หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

(10) ทัศนศิลป์เพื่อชีวิต : กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์




อาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
ณ ศิลปสถาน โชคชัย ตักโพธิ์ วิถี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี (มกราคม 2553)


ทัศนศิลป์เพื่อชีวิต
กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 
ถ.สุรนารายณ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000


ความนำของผู้เขียน

ท่านทั้งหลาย บทความที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คัดย่อมาจากผลงานวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาเอกของผู้เขียน หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต ศศ.ด. (ศิลปวัฒนธรรมวิจัย) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปี 2554 เรื่อง “ทัศนศิลป์เพื่อชีวิต : กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน” โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ 1) เพื่อศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน ผ่านผลงานทัศนศิลป์เพื่อชีวิต ในบริบทของท้องถิ่นอีสาน รัฐชาติ และโลกาภิวัตน์ ที่มีผลต่อการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน 2) เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกศิลปินและกลุ่มศิลปิน ที่มีผลต่อกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน
โดยมีขอบเขตของการวิจัยคือ ผู้วิจัยเลือกศึกษาผลงานศิลปะเพื่อชีวิตของศิลปินอีสานหลักๆ จำนวน 7 คน ที่มีแนวทางชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ โดยเลือกตัวแทนศิลปินจากทั้งผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านศิลปะ และผู้ไม่เคยผ่านสถาบันการศึกษาศิลปะใดๆเลย แต่ทุกคนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนศิลปะเพื่อชีวิต ในนามตัวแทนของศิลปินอีสาน ได้แก่ ทวี รัชนีกร  โชคชัย ตักโพธิ์  สนาม จันทร์เกาะ  สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์  สุรพล ปัญญาวชิระ  เกียรติการุณ ทองพรมราช  และวัฒนา ป้อมชัย
การวิจัยเรื่องนี้ ใช้แนวคิดหลักที่สำคัญคือ แนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ (Identity) โดยได้เลือกพิจารณาในความหมายของเกียร์ตซ์ (Clifford Geertz) คือ เป็นการแปรเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนตามบริบทจึงมีไม่รู้จบ อัตลักษณ์จึงเป็นคุณสมบัติที่คนหยิบยืมสร้างขึ้นมาตามสถานการณ์เฉพาะหน้า นอกจากนั้น ยังได้เลือกแนวคิด “อัตลักษณ์” ในแนวคิดหลังสมัยใหม่ เพราะเป็นการมองปัจเจกสภาพในฐานะของอัตลักษณ์ ความเป็นปัจเจกจึงถูกเน้นในฐานะที่เป็น “กระบวนการทางสังคมของการสร้างอัตลักษณ์” มากกว่าแก่นแกนของคุณสมบัติบางอย่างที่มีลักษณะตายตัว ซึ่งจากแนวคิดหลักดังกล่าว ผู้วิจัยเพียงนำมาเป็นไฟส่องทาง เพื่ออธิบายให้เห็นถึงกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน ซึ่งมีลักษณะที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมแบบบูรณาการ ภายใต้บริบทของความเป็นท้องถิ่นอีสาน รัฐชาติ และโลกาภิวัตน์ ที่มีลักษณะแบบซ้อนทับกันเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของผลงานวิทยานิพนธ์นั้น ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนของโชคชัย ตักโพธ์ ก็ยังมีอีกมาก แต่ผู้เขียนไม่สามารถนำมาให้อ่านได้ทั้งหมด ดังนั้น ในบทความต่อไปนี้ จึงเป็นผลการศึกษาเพียงบางส่วน เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโชคชัย ตักโพธิ์ เท่านั้น และขอสรุปเฉพาะเนื้อหาที่สำคัญเพียงบางตอน ดังต่อไปนี้  


บทนำ

         โชคชัย ตักโพธิ์ เป็นศิลปินอีสานที่ผ่านการศึกษาศิลปะจากกรุงเทพฯ และนับเป็นคุรุศิลปินเพื่อสังคมชาวอีสานอีกผู้หนึ่ง ที่มีความสำคัญและมีบทบาทสูง ในการนำเอาศิลปะไปเป็นแนวทางในการร่วมต่อสู้กับเผด็จการ ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 25519 ซึ่งนับเป็นผู้นำร่วมในกระบวนการต่อสู้ในส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ที่สำคัญอีกผู้หนึ่งของประเทศไทย จนต่อมาเขาได้รับรางวัลมนัส เศียรสิงห์ แดง ครั้งที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2549 เป็นศิลปินเกียรติยศทัศนศิลป์ดีเด่น ทางด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ เช่นเดียวกันกับทวี รัชนีกร
   จึงเห็นได้ว่า ตัวตนของโชคชัย ตักโพธิ์ นอกจากจะเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในส่วนกลาง โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ผลงานในช่วงเวลาต่อมา นับจากปี พ.ศ. 2524 เขาเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยได้รับอิทธิพลย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เขาเคยเป็นนักเรียนพุทธศาสนาในวันเสาร์และอาทิตย์ รวมทั้งเคยไปศึกษาธรรมที่วัดสวนโมกข์และวัดอุโมงค์มาก่อน และการได้ศึกษาธรรมที่วัดหนองป่าพงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จากความเชื่อในพุทธศาสนา และการเชื่อมโยงมาสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะของโชคชัย ตักโพธิ์ นั้น เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะแนวสากลแบบตะวันออก แต่มิใช่การยึดติดอยู่กับรูปแบบของจีนหรือญี่ปุ่น เขาพยายามเชื่อมโยงกับแนวคิดของศาสนาพุทธแบบหินยานที่เป็นของไทย ซึ่งเขามองว่า น่าจะเป็นเซนแบบเถรวาทหรือแบบท้องถิ่นมากกว่า จึงพยายามโยงแนวคิดนี้เข้ามา เพื่อให้เป็นตะวันออกแบบไทย นอกจากจะได้สร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับศาสนาดังกล่าวแล้ว เขายังได้เชื่อมโยงกับนิทานปรัมปราของอีสาน ที่เขาเรียกว่า ปรัมปราซ้อนคติ เช่น ผลงานชุด กาเหยียบช้าง ในปี พ.ศ. 2540 โดยเชื่อมโยงกับนิทานสมัยอาณาจักรโคตรบูรณ์ เพื่อเป็นการอธิบายถึงยุคฟองสบู่แตกแบบซ้อนคติ และผลงานในช่วงปัจจุบัน โชคชัย ตักโพธิ์ ได้เลือกภาพผนังถ้ำในอีสาน มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสื่อให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างพอเพียงในโลกปัจจุบัน
         จึงกล่าวได้ว่า ผลงานศิลปะของโชคชัย ตักโพธิ์ นั้น ในบางช่วงเวลาเป็นผลงานแนวสะท้อนสังคมแบบเข้มข้น หลังจากนั้น ผลงานส่วนใหญ่มักมีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อแบบตะวันออก ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา ภาพผนังถ้ำ นิทานปรัมปรา ซึ่งล้วนผูกพันอยู่กับความเป็นอีสาน แต่แสดงรูปแบบของศิลปะตามอย่างตะวันตก ผลงานของเขาจึงมีนัยสำคัญว่า ความคิดความเชื่อแบบท้องถิ่นอีสาน มันจะผสมผสานกับความเป็นโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร


โชคชัย ตักโพธิ์. คัตเอาท์การเมือง. โปสเตอร์. ปี 2518 (ที่มา : สถาบันปรีดี พนมยงค์. 2546: 28)



โชคชัย ตักโพธิ์. คัตเอาท์การเมือง. โปสเตอร์. ปี 2518 (ที่มา : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย. 2537: 35)



โชคชัย ตักโพธิ์. ก่อน-หลัง ตุลาคม 2516. สีน้ำมันบนผ้าใบ. 56x38 ซ.ม. ปี 2517 
(ที่มา : สถาบันปรีดี พนมยงค์. 2546: 89)



ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์

        1. ศิลปินเพื่อชีวิต : อัตลักษณ์ภายใต้ความเป็นท้องถิ่นอีสาน

            หากจะอธิบายกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์ ในบริบทความเป็นท้องถิ่นอีสาน พบว่า จากพื้นเพเดิมของเขาคือเป็นคนอีสานโดยกำเนิด ดังนั้น ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีแบบดั้งเดิมของอีสาน ก็ได้หลั่งไหลเข้าสู่มโนทัศนศิลป์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวศิลปะถ้ำดั้งเดิมที่มีอยู่ในภาคอีสาน เช่น ผาแต้ม ภูผาพยนต์ และอีกหลายๆ แห่ง นิทานปรัมปราพื้นบ้านอีสาน ที่ผูกติดกับแนวคิดและคำสอนของพุทธศาสนา เช่น เรื่องกาเหยียบช้าง และเรื่องราวปริศนาธรรมต่างๆ กลายเป็นวัตถุดิบทางความคิด ให้เขาถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ ที่ต้องอาศัยการตีความหลักธรรม-วลีธรรม เชื่อมโยงกับเนื้อหาวิถีชีวิตของตัวเองและสังคมอย่างท้าทาย ดังนั้น หากจะอธิบายอัตลักษณ์ สามารถอธิบายได้ว่า ปัจเจกภาพในฐานะอัตลักษณ์ของเขา ได้ถูกสร้างด้วยกระบวนการทางสังคมด้วยความเป็นท้องถิ่นอีสาน ที่ทับซ้อนกับเทคนิควิธีการแบบสมัยใหม่เป็นผู้หยิบยื่นให้ อย่างไรก็ตาม ผลงานทัศนศิลป์ของเขาในรูปแบบนี้ กลับแสดงลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า ศิลปะธรรมชาติสื่อนัยวิถีชีวิต และ ศิลปะอิงปริศนาธรรม ที่เป็นแนวศิลปะในช่วงปัจจุบัน


โชคชัย ตักโพธิ์. ลูกยางนา หน้าคน. สีน้ำบนกระดาษ. 55x76 ซ.ม. ปี 2548 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)



โชคชัย ตักโพธิ์. ผาพยนต์. สีน้ำบนกระดาษ. 55x76 ซ.ม. ปี 2549 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)



โชคชัย ตักโพธิ์. กาเหยียบช้าง. วาดเส้นบนกระดาษ. 38x56 ซ.ม. ปี 2540 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)


2. ศิลปินเพื่อชีวิต : อัตลักษณ์ภายใต้รัฐชาติไทย

           จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยทางด้านการเมืองมีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์เพื่อชีวิตของโชคชัย ตักโพธิ์ มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ได้ผลักดันให้เขากลายเป็น “ศิลปินเพื่อชีวิต” เต็มตัว เป็นศิลปิน “เพื่อทางเลือก” ที่สร้างสรรค์ผลงานออกมา “เพื่อขบถ” ซึ่งไม่เหมือนกับศิลปินกลุ่มกระแสหลัก หรือศิลปะตามกระแสทุนนิยมตะวันตกที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในขณะนั้น ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการของรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ดังนั้น ความเป็นรัฐชาติไทย จึงเป็นผู้หยิบยื่นความเป็นศิลปินเพื่อชีวิตให้กับเขานั่นเอง 
           อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์นั้นสงบลง กอปรกับเขาได้ไปทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ภายใต้รัฐชาติของไทย ด้วยภาระหน้าที่ในความเป็นครู และกฎระเบียบทางราชการที่ผูกรัดข้าราชการให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และความห่างไกลจากเมืองหลวง ได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาต้องเปลี่ยนวิถีการทำงาน จากศิลปะที่มีเนื้อหาทางการเมืองร้อนแรง ไปสู่การสร้างผลงานที่ผ่อนคลายเนื้อหาลงไปมาก แม้จะมีผลงานที่สะท้อนสังคมอยู่บ้างในภายหลัง แต่ก็เป็นเพียงการหยิบยืมเนื้อหาทางสังคมมาสอดแทรกในรูปแบบศิลปะ ที่เขาพยายามทดลองตามหลักการปฏิบัติธรรมของเขา ฉะนั้น เนื้อหาทางการเมืองจึงเบาลงตามสภาวการณ์ของหน้าที่การงาน และสภาวการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายลงในปัจจุบัน
          ดังนั้น จึงสามารถอธิบายได้ว่า ปัจเจกสภาพในฐานะของอัตลักษณ์ ความเป็นปัจเจกจึงถูกเน้นในฐานะที่เป็น “กระบวนการทางสังคมของการสร้างอัตลักษณ์” มากกว่าแก่นแกนของคุณสมบัติบางอย่างที่มีลักษณะตายตัว กล่าวคือ เมื่อโชคชัย ตักโพธิ์ อยู่ในสภาวการณ์ของความรุนแรงทางการเมืองดังเช่นช่วง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ผลงานของเขาในช่วงเวลานั้น จึงเป็นศิลปะเพื่อชีวิตที่เข้มข้น ศิลปะที่เกิดจากแรงบีบคั้น แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ความมีอิสระในทางความคิดมีมากขึ้น ผลงานศิลปะของเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรูปแบบในการแสดงออก ไปสู่ศิลปะในรูปแบบธรรมชาติสื่อนัยวิถีชีวิต และอิงปริศนาธรรมในที่สุด นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า อัตลักษณ์ของเขาไม่ได้มีลักษณะตายตัว แต่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การเมืองที่ถูกสร้างด้วยเงื่อนไขของรัฐชาติไทยนั่นเอง


โชคชัย ตักโพธิ์. ไม้ค้ำ “คนชายแดน” สื่อผสม. ขนาดความสูง 180 ซ.ม. ปี 2537. 
(ที่มา : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย. 2537: 158)



โชคชัย ตักโพธิ์. รูปทรงไข่ใบหน้ากาล ปืน จอบขุดดิน จุดนั้น. สื่อผสม.  ขนาด 82x64, 84x61, 86x62 ซ.ม. ปี 2541 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)



ภาพประกอบ 40  โชคชัย ตักโพธิ์. ท้องทุ่ง เมล็ดข้าว. สื่อผสม. 83.5x303 ซ.ม. ปี 2541 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)


3. ศิลปะสะท้อนสังคม : อัตลักษณ์ภายใต้โลกาภิวัตน์

          ความเป็นพื้นที่แห่งโลกสมัยใหม่ ได้ดึงโชคชัย ตักโพธิ์ เข้าไปสู่การเรียนรู้ศิลปะตะวันตกที่ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงเวลาที่เขาเป็นนักศึกษา ดังนั้น การได้รับอิทธิพลทั้งทางด้านแนวความคิด รูปแบบ และกลวิธีในการสร้างภาพ จึงส่งผลมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ของเขาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะการหยิบยืมเอารูปแบบศิลปะจากลัทธิต่างๆ เช่น ลัทธิสำแดงอารมณ์ และลัทธิอื่นๆ โดยเฉพาะผลงานของเอ็ดวาร์ด มุงค์ เขาได้นำไปโยงกับผลงานของเขาในชุด “ใบหน้า” และโยงชื่อกลุ่มสะพาน ไปดัดแปลงเป็นผลงานชุด “สะพานพุทธ” และในช่วงก่อนและหลังแหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เขาได้รับอิทธิพลศิลปะแนวเพื่อชีวิตของเอ็ดวาร์ด มุงค์ จากภาพชื่อ “เสียงกู่ร้อง” และอีกหลายๆศิลปิน เป็นต้น รวมทั้งการได้รับอิทธิพลจากศิลปินไทย โดยเฉพาะผลงานของกมล ทัศนาญชลี และการได้ไปศึกษางานในต่างประเทศ ก็ล้วนเป็นปัจจัยนำไปสู่ความพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้มีรูปแบบเป็นสากลนั่นเอง
        นอกจากนั้น แนวคิดปรัชญาของชาวตะวันตกและชาวตะวันออก ที่หลั่งไหลมาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งอิทธิพลต่อแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานของโชคชัย ตักโพธิ์ ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการที่เขาพยายามตีความคำว่า “ชีวรูป” ซึ่งมาจากคำว่า “ชีววิทยา” ของโจอัน มิโร และพยายามนำไปเชื่อมโยงกับแนวคิดปรัชญาของชาวตะวันออกคือ คำว่า “ชีวาตมัน” ของฮินดู-พราหมณ์ และตีความ “ชีวาตมัน” สอดคล้องกับคำ “พีช-อาลัยวิญญาณ” ของพุทธมหายาน ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงออกเกี่ยวกับ “ความรันทด” ของผู้คนในสังคม ดังจะเห็นได้ในผลงานของเขาช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้น จึงนับได้ว่า เป็นการเชื่อมโยงความเป็นตะวันตกเข้ากับความเป็นตะวันออก ต่อมา เมื่อเขาได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี หลักปรัชญาของ “พุทธเถรวาท” จึงได้ซึมซับเป็นเนื้อเดียวกับวิถีการดำเนินชีวิตของเขา หลัก “สมาธิ” และผลแห่ง “จิต” ผลจากการปฏิบัติธรรม จากสภาวธรรมก็ได้เชื่อมโยงไปสู่สภาวศิลปะของเขา ซึ่งมันแสดงนัยยะแบบซ้อนมิติ ที่ถือเป็น “อัตลักษณะ” เฉพาะตัวของโชคชัยมากที่สุด
        ดังนั้น หากอธิบายอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์ จากกระแสอิทธิพลดังกล่าว สามารถอธิบายตามแนวคิดของฮอลล์ (Stuart Hall) ที่ได้เสนอแนวคิดที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างภาพตัวแทนและอัตลักษณ์ เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นเขา ความเป็นเรา ฉะนั้น “ภาพเขียน” ของโชคชัย ตักโพธิ์ ที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าว ก็อาจเป็นการสร้างความหมายภาพตัวแทนและอัตลักษณ์บางประการ กล่าวคือ เขาพยายามสร้างภาพตัวแทนของเขาด้วยความเป็นคนตะวันออกด้วยเนื้อหาของเขาเอง ในขณะเดียวกันเขาก็สร้างภาพตัวแทนความเป็นตะวันตก ด้วยรูปแบบศิลปะสมัยใหม่ของชาวตะวันตก ในลักษณะแบบบูรณาการนั่นเอง
         อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของโชคชัย ตักโพธิ์ พบว่า แม้เขาจะเป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านระบบทุนนิยม และต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ในแง่ของการคุกคามวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตามแบบชาวพุทธ แต่ผลงานของเขากลับพยายามสร้างสรรค์มันออกมา โดยไม่ได้ต่อต้านความเป็นหลังสมัยใหม่ (Postmodern) เขาเลือกที่จะพัฒนารูปแบบให้มีความเป็นสากล แต่ต้องผสมผสานกับเนื้อหาความเป็นท้องถิ่นอีสาน ที่เรียกว่า “ตะวันตกบวกตะวันออก” จึงเป็นการรอมชอมเพื่อให้ศิลปะของเขา มีที่ยืนอยู่ในพื้นที่ของโลกศิลปะกระแสหลักและโลกหลังสมัยใหม่ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการเดินทาง “สายกลาง” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แนบแน่นอยู่ในใจของเขา ศิลปะของเขาจึงเปรียบเสมือนเป็นการพิสูจน์ว่า เมื่อสภาวะจิตของเขาได้รับการพัฒนาไปสู่ฌานชั้นสูง หรือแม้แต่การจะเข้ากระแสธรรมขั้นสูงในอนาคต รูปแบบศิลปะของเขาจะได้รับการพัฒนาไปในรูปแบบใด ย่อมเป็นการยากที่จะคาดเดาได้ เนื่องด้วยทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ศิลปะ ชีวิต และอัตลักษณ์ของเขาก็ย่อมเป็นไปตามนั้น


โชคชัย ตักโพธิ์. ใบหน้ากาล. ภาพพิมพ์. ผลงานสูญหายใน ปี พ.ศ. 2519 
(ที่มา แฟ้มภาพของโชคชัย ตักโพธิ์)



โชคชัย ตักโพธิ์. เดินจงกรม. เครยอง. 54x75 ซ.ม. ปี 2543  
(ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)



โชคชัย ตักโพธิ์. วัดหนองป่าพง. เครยอง ดินสอถ่าน. 69x79 ซ.ม. ปี 2545  
(ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)


บทสรุป

  ผลจากการศึกษาและวิเคราะห์ผลงานทัศนศิลป์ของโชคชัย ตักโพธิ์ พบว่า เขาเป็นศิลปินอีกผู้หนึ่ง ที่ยอมสละชีวิตของตัวเองไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อชีวิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตรึงเครียดของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ความจริงใจและอุดมการณ์ที่ก้าวข้ามความกลัวตาย จากการไล่ล่าของฝ่ายตรงกันข้าม ได้ทำให้เขามีตัวตนที่ถูกขนานนามว่า “เป็นศิลปินเพื่อชีวิต” ที่ยึดมั่นอุดมการณ์เพื่อสังคม จนทำให้เขากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงและถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความเป็นศิลปินเพื่อชีวิตของเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากศิลปินเพื่อชีวิตคนอื่นๆ ในยุคเดียวกัน หากแต่มีความแตกต่างจากกลุ่มศิลปะเพื่อศิลปะก็คือ เขาไม่ได้ขายผลงานและขายอุดมการณ์ เพื่อเงินตราและเหรียญรางวัลเฉกเช่นศิลปินในกลุ่มกระแสหลัก แม้ในช่วงหลังจนถึงปัจจุบัน อุดมการณ์ของเขาได้ยกระดับไปสู่ความจริงแท้ของสภาวธรรมคือ ธรรมชาติที่มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นของธรรมดา และธรรมะของพระพุทธเจ้าที่สอนให้รู้เหตุของการเกิดสภาวธรรม และทรงสอนให้รู้หนทางแห่งความหลุดพ้น เขาจึงปฏิบัติธรรมควบคู่กันไปกับการปฏิบัติศิลปะ เพื่อให้ผลงานศิลปะของเขามีประโยชน์สูงสุดต่อมนุษยชาติ และการปฏิบัติธรรมมีประโยชน์ต่อการหลุดพ้นของตัวเอง นั่นคือ ความแตกต่างสูงสุด เท่าที่เคยมีปรากฏในประเทศไทย
นอกจากสิ่งที่ค้นพบในความเป็นตัวตนดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือ เรื่อง “แนวคิด ทฤษฎี/ปรัชญา” ที่แฝงอยู่ในความเป็นศิลปินของโชคชัย ตักโพธิ์ ซึ่งมีความแตกต่างจากชาวตะวันตก คือ การนำเอาหลักคิดปรัชญาและคำสอนจากพระพุทธศาสนา มาเป็นหลักแนวความคิด เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้มีความเป็นตะวันออก หรือสอดคล้องกับความเป็นไทย เพื่อรักษาตัวตนและความเชื่อดั้งเดิมเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากโชคชัย ตักโพธิ์ เป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาทั้งชีวิต ฉะนั้น ปรัชญา “พุทธเถรวาท” จึงได้มาปรากฏในผลงานส่วนใหญ่ของเขา เขาพยามสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้เข้าไปใกล้เคียงกับคำสอนของพระพุทธองค์ให้มากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่า หลังจากที่เขาได้ปฏิบัติธรรม จนสมาธิและปัญญาเกิดขึ้นแล้ว พุทธิปัญญาก็จะบังเกิดขึ้นในผลงานศิลปะของเขาด้วย
         อย่างไรก็ตาม ผลงานศิลปะของโชคชัย ตักโพธิ์ ทั้งหมด ทำให้เห็นภาพรวมของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนตายตัว ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจังตามกฎไตรลักษณ์ ผลงานศิลปะของเขาก็เช่นกัน จึงเห็นได้ว่า รูปแบบและกลวิธีการสร้างสรรค์ผลงาน ได้เลื่อนไหลไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยอันควร ดังนั้น การปรับตัวให้เลื่อนไหลไปตามกระแสของสังคม และกระแสโลกาภิวัตน์ จึงเป็นความชาญฉลาดที่ทำให้เขายืนอยู่ได้อย่างสง่างาม บนพื้นที่ของโลกศิลปะหลังสมัยใหม่นั่นเอง

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

(009) บทพิเคราะห์ "เต๋า" ลัทธินอกพุทธศาสนา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล

ผมขอนำเอาบทความที่มีผู้เขียนถึงลัทธิเต๋า โดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของบทความเดิมนี้ เนื่องจากผมไปอ่านเจอในเฟสบุ๊คของเพื่อน จึงอ้างอิงมาจากเฟสบุ๊คของคุณชวาลา ชัยมีแรง เพื่อนผู้นี้เคยเรียนศิลปกรรมเทคโนโคราชมาด้วยกัน ชวาลา ชัยมีแรง เป็นนักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียงของเมืองไทย เพลงดังที่รู้จักกันดีก็คือ เพลงแสงจันทร์ ที่ร้องโดยมาลีฮวนนานั้นแหละคือเพลงที่เขาแต่งขึ้น จึงขอบคุณเจ้าของบทความเดิม และคุณชวาลา ชัยมีแรง มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

 
ลัทธิเต๋า
 


เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ชาวจีนตามลุ่มแม่น้ำเหลือง มีความเคารพธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ฯลฯ เป็นอย่างสูง แต่อันที่จริงเป็นการนับถือวิญญาณ (Spirits) ในระดับต่าง ๆ จากสูงมาหาต่ำ ได้แก่ วิญญาณแห่งสวรรค์ หรือ เซี่ยงตี่ (เทียนตี่) วิญญาณภาคพื้นดิน วิญญาณมนุษย์ และวิญญาณสัตว์ทั้งหลาย สวรรค์ถือว่าเป็นวิญญาณสูงสุด เป็นบรรพบุรุษของฮ่องเต้หรือพระจักรพรรดิ และเป็นหัวหน้าวิญญาณของบรรพบุรุษสวรรค์
 
 
ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า หรือ พูดให้ถูกที่สุดเป็นระเบียบแห่งเอกภพ ฮ่องเต้จะต้องทำการบูชาสวรรค์และแผ่นดินปีละครั้งประชาชนธรรมดาไม่อาจบูชาสวรรค์และโลกง่ายนัก จึงบูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับของตนแทน เชื่อกันว่าวิญญาณของบรรพบุรุษยังดำรงอยู่ และจะคอยช่วยเหลือบุคคลที่กระทำการบูชาให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต มีการกินเลี้ยงฉลองอย่างมโหฬาร การบูชาเป็นเรื่องส่วนตัว และโดยตรง ไม่ใช่เพราะมีความกลัว หรือใช้เวทมนตร์คาถา ตามความคิดเก่าแก่ของจีน นักปราชญ์จีนโบราณ จึงพบคำอธิบายซึ่งยืนยันว่า ในเอกภาพนี้มีพลังหรือ อำนาจตรงกันข้ามอยู่ 2 อย่างคือ

1) หยาง (Positive Power) คือพลังบวกมีลักษณะสีแดง เป็นพลังเพศชาย พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความอบอุ่น สว่างไสว มั่นคง สดใส เช่น ดวงอาทิตย์ ไฟ ฯลฯ
2) หยิน (Negative power) คือพลังลบ มีลักษณะสีดำ เป็นพลังเพศหญิง พบในทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ความหนาวเย็น ความมืด อ่อนนุ่ม ชื้นแฉะ ลึกลับ และเปลี่ยนแปลง เช่น เงามืด น้ำ ฯลฯ

สวรรค์เป็นหยางแทบทั้งหมด และโลกเป็นหยินแทบทั้งหมดเช่นกัน จากการปะทะกันของสองสิ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็อุบัติขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีพลังทั้งสองนี้ทั้งนั้น บางครั้งหยินอาจมีพลังแข็งแรง แต่บางครั้ง หยาง ก็มีพลังมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ท่อนไม้ ตามปกติเป็นหยิน แต่เมื่อโยนเข้าไปในกองไฟ ก็เปลี่ยนรูปเป็นหยางไป ในชีวิตคนหยินและหยางก่อให้เกิดความล้มเหลวและความสำเร็จเป็นต้น เช่นเดียวกัน หยางและหยินไม่ใช่เป็นตัวแทนของความดีและความชั่ว แต่ทั้งสองนี้มีความจำเป็นต่อกฏเกณฑ์และระเบียบของเอกภพ ทั้งสองนี้ไม่ใช่อยู่ในภาวะปะทะกันตลอดเวลา แต่ยามใดมีความสามัคคีกัน ทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นสิ่งดีด้วยกัน

ในระหว่างคริสตวรรษที่ 5 - 6 มีศาสดาทางศาสนาและปรัชญาเกิดขึ้นอย่างน่าสังเกต ในอินเดียมีศาสดามหาวีรและพระพุทธเจ้า ในกรีกมีโสคราตีส ในเปอร์เซียมีโชโรอัสเตอร์ ในจีนมีเล่าจื้อ และขงจื้อ ท่านเล่าจื้อ (Lao tze) เป็นศาสดาของศาสนาเต๋า ซึ่งได้หล่อหลอมชีวิตและอัธยาศัยชาวจีนกว่า 2000 ปีมาแล้ว

ชื่อจริงของเล่าจื้อ คือ ลี - เออร์ (Li Uhr) เกิดเมื่อปี 604 ก่อนคริสต์ศักราช ที่จังหวัดโฮนานประเทศจีน ตอนเมื่อเกิดนั้น กล่าวกันว่า พอคลอดออกมาก็เป็นคนมีผมหงอกขาว และมีอายุ 72 ปีแล้ว ด้วยเหตุนี้แหละท่านจึงชื่อ เล่าจื้อ ซึ่งหมายถึง "เด็กแก่" หรือ "ครูเฒ่า" เมื่อทำงานเป็นบรรณารักษ์ ที่หอสมุดหลวง สำนักของเจ้าเมือง ปรากฎว่ามีชื่อเสียงโด่งดังเพราะมี อำนาจสติปัญญาที่ลึกซึ้งเว้นคนธรรมดาสามัญ ครั้งหนึ่งขงจื้อเดินทางมาพบ ท่านไม่ชอบคำสอนของขงจื้อเลย ถึงกับพูดว่า "กลับไปเสียเถิดและเลิกความหยิ่งความอยากของท่านเสียด้วยนะ"

เล่าจื้อ ไม่ชอบชีวิตหรูหรา แต่ทุกคนดูเหมือนจะมุ่งมั่นเพื่อเงินชื่อเสียงและอำนาจ ในขณะเดียวกันทั้งเมืองก็เต็มไปด้วยการโกงกินกันอย่างมโหฬาร ด้วยเหตุนี้ วันหนึ่งท่านจึงขับเกวียนเทียมวัวดำสองตัวมุ่งไปยังภูเขาด้านทิศตะวันตก (ทิเบต?) พอถึงประตูเมืองนายประตูจำได้ จึงขอร้องให้ท่านหยุดพักเพื่อเขียนปรัชญาแห่งชีวิต ท่านจึงได้เขียนตำราที่โด่งดังของท่านเป็นอักษรจีน 5,500 ตัว จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไป ปรากฏว่าพอถึงช่องแดนระหว่างภูเขา ท่านก็หายเข้าไปในก้อนเมฆ อะไรได้เกิดขึ้นก็ตามทีเถิด ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครเห็นท่านอีกเลย

คัมภีร์ที่เล่าจื้อเขียนนี้ มีชื่อว่า เต๋า - เต๋อ - จิง (Tao - the - jing) แปลว่า คัมภีร์แห่งมรรคและอำนาจ เล่าจื้อเริ่มต้นด้วยการตอบปัญหาที่ว่า "อะไรคือแก่นของเอกภพ?" "ถ้าเราสามารถมองไปเบื้องหลังปรากฎการณ์ของสิ่งทั้งหลายได้ และพบลักษณาการที่ชีวิตเกิดขึ้นแล้ว เราจะดำเนินชีวิตอย่างไร?" เล่าจื้ออธิบายว่า คำตอบมีอยู่พร้อมแล้วในว่า "เต๋า" คำนี้แปลกันมาว่า "ทาง", "มรรค" หรือ "แหล่งกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง" และเป็นการยากที่จะให้ความหมายเพราะคำ ๆ นี้ให้คำจำกัดความไม่ได้ แก่นแท้ของเต๋าลึกลับกว่าความลึกลับใด ๆ แต่ว่าก็มีบางสิ่งบางอย่างที่พอจะสังเกตได้ดังนี้

เต๋าไม่ใช่พระเป็นเจ้า แต่เป็นพลังหรืออำนาจที่หลั่งไหลท่วมท้นทุกสิ่งทุกอย่าง มีความรักทะนุถนอม แต่ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือยึดสิ่งใดเป็นเจ้าของ เป็นสิ่งที่ทำงานอย่างนุ่มนวลและสงบเสงี่ยม โดยไม่ต้องพยายามสิ่งทั้งหลายก็จะเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ให้พิจารณาตัวอย่างความเจริญก้าวไปแต่ละปีของฤดูทั้ง 4 ซึ่งดำเนินไปตามกฏเกณฑ์จากฤดูหนึ่งไปสู่ฤดูหนึ่ง ชนิดไม่ทันได้สังเกต ถึงอย่างนั้น ในแต่ละฤดูธรรมชาติทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ โดยปราศจากความวุ่นวายในภาวะเช่นนี้ เต๋าทำหน้าที่ประธานอย่างสงบและอย่างได้ผล (วู - เว) เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี

ลัทธิเต๋ามีกำเนิดในประเทศจีน ต้นกำเนิดเดิมของลัทธิเต๋าไม่ใช่ลัทธิหรือศาสนา แต่เป็นปรัชญาธรรม เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า โดยอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ตัดสิ่งที่เกิน ความจำเป็นของชีวิต รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ฟุ่มเฟือยและฝืนกับธรรมชาติ โดยกลับไป มีชีวิตแบบง่าย ๆ ท่ามกลางความสงบของป่าเขาลำเนาไพร แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปปรัชญาเต๋าได้ถูก ดัดแปลงให้สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมของจีนซึ่งบูชาพระเจ้าประจำธรรมชาติ ผสมกับความเชื่อ ในทางไสยศาสตร์อื่น ๆ จึงเกิดเป็นลัทธิเต๋า ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในตอนต่อไป

ปรัชญาเต๋าเป็นระบบความคิดที่โดดเด่นต่างจากปรัชญาอื่น ๆ ของจีน กล่าวคือ มีแนวคิดที่นอกจากจะเน้นหนักในทางจริยศาสตร์แล้ว ยังมีแนวคิดทางด้านปรัชญาการเมืองและทัศนะในทางอภิปรัชญาค้นหาอันติมสัจจ์ที่เป็นรากฐานแห่งสรรพสิ่ง ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ปรัชญาเต๋ายังคงยืนหยัดท่ามกลางกระแสปรัชญาอื่น ๆ ของโลกในปัจจุบันแม้นวันเวลาจะผ่านพ้นไปนานก็ตาม ปรัชญาเต๋า ยังคงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้รักการแสวงหาความจริง

ก่อนที่จะกล่าวถึงระบบแนวความคิดของปรัชญาเต๋า เราควรศึกษาชีวประวัติของผู้ให้กำเนิดนั่นคือท่าน "เหล่าจื้อ" ผู้ซึ่งมีชีวประวัติยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจจะสันนิษฐานความเป็นมาของท่านจากบันทึก "ซื่อกี่" ซึ่งเป็นบันทึกที่รวบรวมโดยซิเบ๊เชียง นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่น แม้นว่าบันทึกนี้จะมีบางตอนที่ขัดแย้งทำให้เกิดความคลุมเคลือก็ตาม แต่เราอาจจะสรุปได้ว่าท่านเหลาจื๊อเกิดในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล เป็นชาวรัฐฌ้อ อำเภอหู ตำบลหลี หมู่บ้าน เค้กยินลี้ ชื่อเดิมของท่านคือ "ยื้อ แซ่ลี้" ส่วนชื่อเหลาจื๊อเป็นเพียงฉายาที่นิยมเรียกกันเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า "อาจารย์ผู้เฒ่า" ท่านเคยรับราชการในราชสำนักจิว โดยดำรงตำแหน่งเป็นบรรณารักษ์ใหญ่แห่งหอพระสมุดต่อมาได้เห็นความเสื่อมโทรมของราชวงศ์จิวจึงออกจากราชการจาริกไปถึงด่านแห่งหนึ่งก็ถูกนายด่านขอร้องให้เขียนคัมภีร์ ซึ่งท่านได้แต่งให้และได้ลาจากไปโดยไม่มีผู้ใดทราบ

คัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของลัทธิเต๋าคือ "เต๋าเต๋อจิง" ซึ่งเชื่อกันว่าท่านเหลาจื๊อเขียนขึ้น เมื่อประมาณศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล มีลักษณะเป็นหนังสือขนาดเล็กที่บรรจุถ้อยคำมากกว่า 5,000 คำ มีทั้งหมด 81 บท และนิยมแปลออกมาในรูปของร้อยกรอง เป็นคัมภีร์ที่มีผู้สนใจแปลเป็นภาษาอังกฤษมากรองลงจากคัมภีร์ไบเบิลและแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อีกหลายภาษา จึงเป็นหนังสือของคนจีนที่มีผู้รู้กันดีมากที่สุดเล่มหนึ่ง

โวหารที่ใช้ในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงนั้นมีสำนวนลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจ เพราะเขียนไว้ด้วยประโยคสั้น ๆ แต่กินความหมายพิสดารซึ่งจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และจะต้องมีการอธิบาย อย่างยืดยาวจึงจะเข้าใจได้ ดังนั้นคัมภีร์นี้จึงมีนักปราชญ์เป็นจำนวนมากในสมัยต่อมา พยายามที่จะแต่งอรรถกถาและอรรกถาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่ท่านเสถียร โพธินันทะ (เสถียร โพธินันทะ. 2514 : 180) ได้กล่าวไว้คือ อรรถกถาเต๋าเต๋อจิงที่เขียนโดย เฮ่งเพี๊ยก ซึ่งเป็นปราชญ์ที่มีชีวิต ในสมัยสามก๊ก (ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 8)

ดังที่ได้ทราบมาแล้วว่า คัมภีร์เต๋าเต๋อจิงนี้มี 2 ภาค คือ "เต๋าจิง" และ "เต๋อจิง" เต๋าจิงเริ่มตั้งแต่บทที่ 1 - 37 อธิบายถึงความคิดที่เกี่ยวกับอันติมสัจจ์ และมรรควิธีแห่งการเข้าถึงอันติมสัจจ์นั้น โดยเริ่มต้นอธิบายตั้งแต่เต๋าคืออะไร ธรรมชาติของเต๋า การเกิดขึ้นของสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติหลักจริยธรรมของชีวิต ไปจนกระทั่งการอธิบายถึงวิถีทางเข้าถึงเต๋า ส่วนบทที่ 38 - 81 เป็นการอธิบายว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ลักษณะการเมืองการปกครองที่ดีเป็นอย่างไร ลักษณะของผู้เป็นปราชญ์ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุข และประเทศในอุดมคตินั้นควรมีลักษณะอย่างไร

ความจริงสุงสุดที่ลัทธิเต๋าให้ความเคารพนับถือ คือ "เต๋า" ซึ่งเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งเป็นที่เกิดและดับของสิ่งทั้งหลาย แต่เอกภาพนี้เป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไม่มีเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดโดยความหมายของคำว่า "เต๋า" ซึ่งเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งทั้งมวลนี้มีความหมายว่า "หนทาง หรือวิธี" ซึ่งเป็นหนทางที่ไร้ทาง นั่นคือ เราไม่สามารถเห็นหนทางนี้ด้วยการเห็น ไปไม่ได้ด้วยการเดินแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นหนทางที่มีจุดหมายแฝงอยู่ในตัวเอง เป็นบ่อเกิดและเป็นจุดหมายสุดท้ายของเอกภพ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูดหรือเหตุผล นอกจากการเปรียบเทียบ แต่การเปรียบเทียบก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ถึงเต๋าตัวจริง ดังคำกล่าวของเหลาจื๊อในเต๋าเต๋อจิง บทที่ 1 ซึ่งพจนา จันทรสันติ (พจนา จันทรสันติ. 2523 : 53) ได้แปลมาจาก "ภูมิปัญญาจีน" (The Wisdom of China) ของหลินยู่ถั่ง โดยแปลความไว้ว่า

"...เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ
ชื่อที่ตั้งให้กันได้ ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง
เต๋านั้นมิอาจอธิบาย และมิอาจตั้งชื่อ
เมื่อไร้ชื่อทำฉันใด จักให้ผู้อื่นรู้
ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า "เต๋า" ไปพลาง ๆ
.............
บ่อเกิดนั้นสุดแสนลึกล้ำ
ความลึกล้ำสุดแสนนั้น
คือประตูที่เปิดไปสู่ความรู้แจ้งแห่งสรรพชีวิต"

นอกจากนี้แล้ว ในเต๋าเต็กเก็งบทที่ 6 ได้ทำให้เราเห็นความยิ่งใหญ่ของเต๋ามากขึ้น เพราะจากเอกภาพนี้เองที่เป็นบ่อเกิดของฟ้าและดิน พจนา จันทรสันติ (2523 : 61) ได้แปลความไว้ว่า

"อหิทธานุภาพอันล้ำลึกนั้นมิเคยดับสูญ
เป็นมารดาอันมหัศจรรย์
จากทวาราแห่งมารดานี้เอง
ได้ก่อเกิดรากฐานแห่งฟ้าและดิน"

สำหรับในบทที่ 25 ได้ทำให้เราเห็นและเข้าใจในอันติมสัจจ์นี้ได้ดียิ่งขึ้นถึงความยิ่งใหญ่ที่มีอยู่เป็นอยู่ด้วยตนเอง และจะมีอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แม้นว่าสิ่งทั้งหลายจะสูญสิ้นไปหมดแล้วก็ตามแต่เต๋าก็ยังอยู่ชั่วนิจนิรันดร พจนา จันทรสันติ (2523 : 95) ได้แปลความไว้ว่า

"ก่อนดำรงอยู่ของฟ้าและดิน
มีบางสิ่งบางอย่างมืดมัวเคลือบคลุม
เงียบงันโดดเดี่ยว
อยู่เพียงลำพัง ไม่แปรเปลี่ยน
เป็นอมตะหมุนเวียนไม่หยุดยั้ง
มีค่าควรแก่การเป็นมารดาของสรรพสิ่ง
ข้าพเจ้าไม่ทราบชื่อสิ่งนั้
แต่ถ้าถูกบังคับให้เรียก
ก็จะเรียกว่า "เต๋า"
และจะให้ชื่อว่า "ยิ่งใหญ่"
ยิ่งใหญ่หมายถึงความต่อเนื่อง
ความต่อเนื่องหมายถึงความยาวไกล
ความยาวไกลหมายถึงการกลับสู่ต้นกำเนิดเดิม
ดังนั้นเต๋าจึงยิ่งใหญ่
ฟ้าจึงยิ่งใหญ่
ดินจึงยิ่งใหญ่
ปราชญ์จึงยิ่งใหญ่
นี่คือความยิ่งใหญ่สี่ชนิดในจักรวาล
และปราชญ์ก็นับเป็นหนึ่งในนั้น
คนทำตามกฎแห่งดิน
ดินทำตามกฎแห่งฟ้า
ฟ้าทำตามกฎแห่งเต๋า
เต๋าคงอยู่และเป็นไปด้วยตนเอง"

ดังได้กล่าวมาแล้วนี้เราอาจสรุปได้ว่าเต๋าเป็นธรรมชาติที่มีอยู่เหนือถ้อยคำ จึงยากที่จะอธิบายให้ผู้คนเข้าใจได้ง่าย แต่มิได้หมายความว่าเราจะไม่มีโอกาสเข้าถึงเต๋า การเข้าถึงเต๋าและรู้จักเต๋ากระทำได้ด้วยการบำเพ็ญเพียร ทางจิตให้สงบจากอารมณ์ภายนอกทั้งอารมณ์ที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี ไม่หลงเพลิดเพลินกับอารมณ์ที่ตนได้เข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องแต่ควบคุมจิตให้อยู่ในภาวะบริสุทธิ์ ดังคำกล่าวในเต๋าเต๋อจิงบทที่ 10 ความว่า

"รักษาดวงวิญญาณให้พ้นจากความมัวหมอง
ทำจิตให้แน่วนิ่งเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่
หายใจอย่างละเอียดอ่อนแผ่วเบา
เหมือนลมหลายใจของเด็กอ่อนได้หรือไม่
ชำระล้างญาณทัศนะให้หายมืดมัว
จนอาจแลเห็นกระจ่างชัดได้หรือไม่
มีความรักและปกครองอาณาจักร
โดยไม่เข้าไปบังคับบัญชาได้หรือไม่
ติดต่อรับรู้ และเผชิญทุกข์สุข
ด้วยความสงบนิ่งไม่ทุกข์ร้อนได้หรือไม่
แสวงหาความรู้แจ้ง
เพื่อละทิ้งอวิชชา ได้หรือไม่
ให้กำเนิด ให้การบำรุงเลี้ยง
ให้กำเนิด แต่มิได้ถือตนเป็นเจ้าของ
กระทำกิจ แต่มิได้ยกย่องตนเอง
เป็นผู้นำในหมู่ตน แต่มิได้เข้าไปบงการ
เหล่านี้คือคุณความดีอันลึกล้ำยิ่ง"

(พจนา จันทรสันติ. 2523 : 67
การรักษาจิตให้บริสุทธิ์ คือ การเข้าถึงตัวตนภายในอันเป็นความรู้ที่ประเสริฐยิ่งกว่าการแสวงหามากเท่าใดก็ยิ่งรู้น้อยเท่านั้น เพราะจิตยิ่งพอกพูนกิเลสมากขึ้น ความอยาก ความต้องการและความยึดถือก็ทวีขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดมนุษย์ต้องตกเป็นทาสและถูกทำลายเพราะอวิชชานี้ ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์เต๋า ก็คือผู้รู้แจ้ง ความรู้ภายในจึงสามารถสลัด ละ ปล่อยวางกิเลสตัณหาและหมด ซึ่งความยึดถือยึดติดในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
เราอาจสรุปได้ว่าคำสอนของเต๋ามุ่งให้บุคคลเข้าสู่สาระแห่งแก่นแท้โดยตรง โดยละความยึดถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เป็นผู้อยู่พ้นจากความสงสัย ไปพ้นจากการแบ่งแยก ไม่ให้คุณค่าแก่สิ่งที่คนส่วนมากยึดถือ สลัดความหยิ่งยะโสโอหังออกไป สลัดความฉลาดและความเป็นคนเจ้าเหตุผล แต่หวนกลับมาดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ มีชีวิตที่เรียบง่าย มีใจที่บริสุทธิ์ปราศจากความอยากความต้องการในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ความสงบจึงจะเกิดขึ้นได้ ดังคำกล่าวในเต๋าเต๋อจิงบทที่ 37 ความว่า

"เต๋าไม่เคยกระทำ
แม้กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงลง
หากกษัตริย์และเจ้านครสามารถรักษาเต๋าไว้ได้
โลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยความต่อเนื่อง
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป และเกิดการกระทำต่าง ๆ ขึ้น
จงปล่อยให้ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลเป็นผู้ควบคุมการกระทำ
ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลนี้ไร้ชื่อ
มันช่วยขจัดความอยากทั้งปวง
เมื่อขจัดความอยากได้
ความสงบย่อมเกิดขึ้น
ดังนั้นโลกย่อมถึงซึ่งสันติสุข"
(พจนา จันทรสันติ. 2523 : 67)

อย่างไรก็ตามรากฐานสำคัญที่จะนำบุคคลไปสู่ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น ท่านเหลาจื๊อได้กล่าวไว้มี 3 ประการ คือ

1. การมีความรัก จะช่วยให้เรากล้าหาญ
2. การทำแต่พอควร จะทำให้เราเป็นคนเรียบง่ายมีจิตใจกว้างขวาง
3. การไม่เป็นเอกในโลก ทำให้เรารู้จักเป็นผู้ตามที่ดี

คุณธรรม 3 ประการนี้เป็นหลักปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลได้รับชันะและปลอดภัยจากความทุกข์ทั้งปวงในโลก ซึ่งเราจะศึกษาได้จากเต๋าเต็กเก็งบทที่ 67 เต๋าเต๋อจิง บทที่ 80

"หวังให้ประเทศเล็กที่มีพลเมืองน้อย
มีอาหารพอที่จะเลี้ยงดูพลเมือง
มากกว่าที่เขาต้องการถึงสิบเท่าร้อยเท่า
ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของชีวิต
และไม่ท่องเที่ยวพเนจรไปไกล
ถึงแม้จะมีพาหนะเรือและรถ
ก็ไม่มีใครปรารถนาจะขับขี่
ถึงแม้จะมีเกราะและอาวุธ
ก็ไม่มีโอกาสจะใช้
ให้กลับไปใช้การจดจำเรื่องราว
ด้วยการผูกเงื่อนแทนการเขียนหนังสือ
ให้เขานึกว่าอาหารพื้น ๆ นั้นโอชะ
บ้านเรือนธรรมดานั้นสุขสบาย
ประเพณีวิถีชีวิตนั้นน่าชื่นชม
ในระหว่างเพื่อนบ้านนั้นต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน
จนอาจได้ยินไก่ขันสุนัขเห่าจากข้างบ้าน
และตราบจนวันสุดท้ายของชีวิ
จะไม่มีใครได้เคยออกไปนอกประเทศของตนเลย"
(พจนา จันทรสันติ. 2523 : 67)

บทที่ 80 นี้ แสดงให้เห็นถึงประเทศในอุดมคติของท่านเหลาจื๊อที่ต้องการให้มีรูปแบบที่เรียบง่ายไม่เนนความเป็นวัตถุนิยม แต่ส่งเสริมทางด้านจิตวิญญาณและให้คุณค่าของชีวิต วิถีชีวิตที่เรียบง่ายนี้จะทำให้ผู้คนมีความสุขในประเทศของตน โดยไม่จำเป็นต้องออกไปแสวงหาที่อื่น

ประเทศในอุดมคติของท่านเหลาจื๊อเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่มีพลเมืองน้อย เพราะท่านไม่เห็นด้วยกับการล่าอาณานิคม หรือการแสวงหาดินแดนเป็นเมืองขึ้น เพราะจะทำให้ประเทศใหญ่โตเกินไปจนยากที่จะปกครองได้ทั่วถึง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกฎบัญญัติข้อบังคับต่าง ๆ ออกมามากมาย ประเทศน้อย คนน้อย ความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจย่อมน้อยอันเป็นไปตามสัดส่วนการปกครองจึงเป็นไปได้ง่ายกว่า ทฤษฏีนี้เรียกว่า "เซียวก๊กกั้วมิ้น" ท่านเสถียร โพธินันทะ (2514 : 214) แปลว่า "ทำให้เป็นรัฐเล็ก ๆ มีพลเมืองน้อย ๆ " ความคิดทางการเมืองของท่านเหลาจื๊อนี้ นักทฤษฏีการเมืองในโลกปัจจุบันบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่มีพื้นดินและจำนวนประชากรมาก การปกครองแบบเสรีนิยมและธรรมชาตินิยมของท่านเหล่าจื๊อจึงยากที่จะปฏิบัติได้ในยุคปัจจุบันจนกวาเมื่อใดก็ตามทโลกที่เราอยู่นี้มีมนุษย์ที่หมดความเห็นแก่ตัวแล้ว เมื่อนั้นทฤษฎีทางการเมืองแบบเซียวก๊กกั้วมิ้นอาจจะถูกนำมาใช้ปฏิบัติให้เห็นจริงได้

ก่อนกำเนิดปรัชญาเต๋านั้นชาวจีนเคยนับถือธรรมชาติ เพราะเขาสังเกตเห็นว่าธรรมชาติมีคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ

1. ความเป็นวัฎจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นระบบ เช่น การเกิดขึ้นของกลางวันและกลางคืน การหมุนเวียนเปลี่ยนไปของฤดูกาล ทำให้เกิดสภาพอากาศที่หลากหลายกันออกไปในแต่ละปี
2. มีการเกิดและดับตลอดเวลาเช่นความสว่างไสว และความมืดของพระจันทร์ทำให้เกิดข้างขึ้นข้างแรม
3. ความเป็นเอกภาพเดียวกันแม้นว่าเราจะเห็นว่า ธรรมชาติที่ปรากฎแก่ตามีความหลากหลายนับไม่ถ้วน ทำให้เกิดคุณสมบัติเฉพาะตัวบางอย่างก็คล้ายคลึง บางอย่างก็ตรงกันข้ามกัน แต่แท้จริงแล้วทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเอกภาพเดียวกัน

ด้วยสาเหตุดังได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงทำให้นักปราชญ์จีนหลายท่านพยายามค้นหาความลี้ลับของธรรมชาติ ทำให้แนวคิดในเรื่องวิญญาณและผีได้แทรกเข้ามาปะปน จนเกิดความคิดที่ว่ามีวิญญาณแฝงอยู่ในธรรมชาติ วิญญาณที่ว่านี้มีตั้งแต่วิญญาณที่อยู่ในท้องฟ้าซึ่งเรียกว่าเทพแห่งฟ้า หรือเทพแห่งสวรรค์ (ภาษาจีนมีคำเรียกพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นี้ว่า "เทียน") ไล่ลงมาจนกระทั่งถึงเทพที่อยู่บนพื้นดิน ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร แม่น้ำ ฯลฯ ลักษณะความเชื่อเช่นนี้เป็นแบบพหุเทวนิยม (Polytheism) กล่าวคือ เทพเจ้าแต่ละองค์ต่างมีฤทธิ์อำนาจ ถ้ามนุษย์คนใดต้องการบรรลุถึงซึ่งความปรารถนาของตน จะต้องกราบไหว้เซ่นสรวงเทพเจ้าแต่ละองค์แล้วแต่กรณี บางกลุ่มชนอาจจะยกย่องเทพเจ้าองค์หนึ่งให้ยิ่งใหญ่กว่าองค์อื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกันเทพองค์ที่ยิ่งใหญ่นี้อาจจะถูกลดความสำคัญลงสำหรับอีกกลุ่มชนหนึ่

อย่างไรก็ตามโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ชาวจีนในสมัยโบราณนั้นนิยมยกย่องเทพแห่งสวรรค์ให้เป็นใหญ่กว่าเทพองค์อื่น ๆ เป็นเทวาดิเทพที่ต้องมีการเซ่นสรวงบูชาอยู่เสมอ และการทำพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชานั้นสามัญชนไม่วสามารถกระทำได้ นอกจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น เพราะเชื่อกันว่าพระองค์เป็นโอรสแห่งสวรรค์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นรัฐพิธีที่ใหญ่โตจะละเว้นมิได้เลย ในการเซ่นไหว้แต่ละครั้งนิยมฆ่าสัตว์นำมาสังเวยพร้อมกับข้าวปลาอาหาร รวมทั้งสุรา ที่มีรสเป็นเลิศ การทำพิธีกรรมแต่ละครั้งจะมีความประณีตในการถวายของบูชา เพราะมีผลต่อความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฏณ์ ปีใดที่เกิดความอดอยากแห้งแล้ง ยิ่งต้องมีการเซ่นไหว้เป็นพิเศษ มิฉะนั้นแล้วพวกที่คิดร้ายต่อราชบัลลังก์อาจยกขึ้นมาเป็นเหตุผลหนึ่งในการล้มล้างอำนาจองกษัตริย์เพราะเหตุที่ว่าเป็นผู้ทำให้ฟ้าพิโรธไม่เป็นที่โปรดปรานอีกต่อไป และผู้ที่เข้ามาครอบครองคนใหม่ อาจจะอ้างถึงความชอบธรรมในการล้มล้างราชบัลลังก์กษัตริย์ของจีน จึงมีหน้าที่เป็นศาสนาจารย์โดยปริยาย อำนาจในทางศาสนาจึงอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง

สำหรับประชาชนซึ่งไม่สามารถติดต่อกับพระเจ้าแห่งสวรรค์ได้ดังเช่นกษัตริย์ พวกเขาจะบูชาเทพบริวารองค์อื่น ๆ และวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อสร้างความอบอุ่นใจและความมั่นคงในชีวิต ในแต่ละหมู่บ้านจึงมีศาลเจ้าให้กราบไหว้ และในแต่ละบ้านก็จะมีป้ายสถิตดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ

ความเชื่อของชาวจีนในเรื่องวิญญาณ ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะรู้จักและเข้าใจในธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าใจในชีวิตของตนเอง จึงแสดงออกมาในรูปของความเชื่อแบบวิญญาณนิยม (Animism) ต่อมาเมื่อความรู้ได้พัฒนาขึ้นความเชื่อในเรื่องพระเจ้าค่อย ๆ จางลง นักปราชญ์โบราณ ของจีนได้ค้นพบกฎแห่งธรรมชาติที่ครอบงำความเป็นไปของเอกภพ และแสดงออกมาในรูปของพลังอำนาจทั้ง 2 ด้าน ที่เรียกว่าหยินและหยาง พลังหยินเป็นพลังลบที่แสดงออกถึงความมืด ความลึกลับ ความหนาวเย็น ความเปียกชื้น และความเป็นหญิง พลังนี้ปรากฏอยู่ในดิน พระจันทร์ และเงามืดส่วนพลังหยางเป็นพลังบวก แสดงออกถึงความสว่าง ความอบอุ่น ความแห้ง การสร้างสรรค์ และความเป็นชาย พลังนี้ปรากฏอยู่ในพระอาทิตย์ และสิ่งที่ส่องแสงสว่าง ในเอกภพนี้จะมีพลังทั้งสองอย่างผสมกันในสัดส่วนที่ทำให้เกิดเป็นสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ถ้าพลังอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นไปตามสัดส่วนก็จะทำให้ผลที่เกิดขึ้นวิปริตไป

โลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกภพได้ถูกสร้าง ขึ้นมาด้วยพลังอำนาจทั้ง 2 อย่างนี้ทำให้มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน แต่นักปราชญ์จีนในสมัยโบราณได้พยายามที่จะจัดระบบของมันออกมาเป็นกลุ่ม ๆ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ ซึ่งจำแนกออกมาได้เป็น 5 ธาตุ คือ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุไม้ ธาตุโลหะ (ซึ่งมุ่งหมายเฉพาะธาตุทอง) และธาตุดิน

อย่างไรก็ตามแม้นว่านักปราชญ์จีนในสมัยต่อมาจะสอนให้มนุษย์มีความเข้าใจธรรมชาติ โดยใช้ปัญญามากกว่าความงมงาย ผู้ที่จะเข้าใจคำสอนเช่นนี้ได้ก็คงมีแต่ผู้มีปัญญาเท่านั้น คนจีน โดยทั่ว ๆ ไปยังคงนับถือวิญญาณและเทพเจ้า เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไปคำสอนของปราชญ์คงเหลือไว้ให้ปัญญาชนศึกษาและขบคิดต่อไป ส่วนสามัญชนยังคงยึดถือในความเชื่อเดิม ๆ เทพเจ้ายังคงได้รับการยกย่องบูชาถูกยึดถือเป็นที่พึ่งต่อไป

ปรัชญาของท่านเหลาจื๊อก็ตกอยู่ภายใต้กฎนี้เช่นกัน กล่าวคือ คำสอนของท่านที่มุ่งให้บุคคลเข้าในในธรรมชาติอย่างผู้มีปัญญา และดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายที่สุด แต่พอวันเวลาได้ผ่านพ้นไปหลักคำสอน และคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงได้ถูกเสริมเติมแต่ง เน้นหนักในทางอภินิหารและเวทมนต์ ทำให้ปรัชญาเต๋าได้เปลี่ยนรูปมาอยู่ในลักษณะของลัทธิศาสนาที่นำเอาความเชื่อในเรื่อง หยินและหยางมาผสมกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนที่เคยบูชาพระเจ้าในธรรมชาติ รวมทั้งความเชื่อในทางไสยศาสตร์และการเล่นแร่แปรธาตุ

บุคคลแรกของลัทธิเต๋าที่เป็นผู้ก่อตั้งลัทธิคือนักพรต จางเต๋าหลิง แห่งภูเขาหลุ่งหัวซาน มณฑลเสฉวน นักพรตท่านนี้เคยประกาศว่าตนเองสำเร็จทิพยภาวะติดต่อกับเทพเจ้าได้ ท่านได้ยกให้ท่านเหลาจื๊อเป็นศาสดา และยกย่องคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงเป็นสูตรของศาสนา พร้อมทั้งเขียนคัมภีร์เพิ่มขึ้นมาอีกหลายเล่ม แต่ละเล่มล้วนหนักไปในเรื่องของไสยศาสตร์เวทย์มนต์ การเล่นแร่แปรธาตุ และการแสวงหายาอายุวัฒนะ และเชื่อกันว่าพรตผู้นี้มีทิพยอำนาจมากสามารถติดต่อกับวิญญาณต่าง ๆ ได้ รวมทั้งติดต่อกับท่านปรมาจารย์เหลาจื๊อ และมีความสามารถในการปราบปรามเหล่ามารร้ายภูติผีปีศาจได้ด้วยดาบศักดิ์สิทธิ์ซึ่งท่านปรมาจารย์เหลาจื๊อได้มอบให้

สานุศิษย์จึงยกย่องท่านเป็น "เทียน ฉี เช็ง อิ เต๋า" (T'ien - Shih Cheng - Yi Tao) ซึ่งทอมสัน (Laurence G. Thompson. 1979 : 107) ได้แปลว่า "วิถีทางแห่งเอกภาพอันสมบูรณ์ของปรมาจารย์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากสวรรค์" (Way of Perfect Unity of the Master Designated by Heaven.) หรือตำราหลายเล่มใช้คำว่า "อาจารย์แห่งสวรรค์" (Celestial Teacher) ซึ่งต่อมาเจ้าลัทธิทุกคนได้ใช้สมณศักดิ์นี้กันตลอดมา

ความไม่ธรรมดาของท่านจางเต๋าหลิงนั้นมีผู้เล่ากันมากมาย เช่น ท่านได้รับการบวชเป็นนักพรตโดยวิญญาณของท่านเหลาจื๊อเป็นผู้บวชให้ ท่านสามารถค้นพบสูตรของความเป็นอมตะท่านจึงมีพลังชีวิตที่เป็นทิพย์ ท่านมีดาบศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถปราบปีศาจร้ายแม้อยู่ไกลถึง 1,000 ไมล์ และสุดท้ายเชื่อกันว่าท่านขึ้นสวรรค์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่โดยขี่เสือขึ้นไปทางยอดเขาหลุงหัวซานท่านจางเต๋าหลิง มีอายุยืนถึง 120 ปี

หลังจากนั้นทายาทสกุลจางได้สืบทอดตำแหน่งกันต่อมาตั้งแต่ลูกจนถึงหลาน ลูกหลานของท่านมีส่วนทำให้ลัทธิเต๋ามีความเป็นระบบมากขึ้น นิกายนี้จึงได้ชื่อว่า นิกายเช็งอิ (Cheng - Yi) ซึ่งเน้นในรหัสยลัทธิเชื่อถือโชคลางอภินิหารการเข้าทรงและ คาถาอาคมต่าง ๆ นักบวชในนิกายนี้มีครอบครัวได้เช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป

ในขณะเดียวกันแนวทางเดิมของท่านเหลาจื๊อยังคงมีอยู่โดยมีผู้สืบทอดพยายามค้นหาความจริงภายในด้วยการดำเนินชีวิตตามแนวทางของท่านปรมาจารย์ พวกนี้ถูกเรียกว่าพวก "ชวน เชน เจียว" (Ch'uan - chen Chiao) ซึ่ง ทอมสัน (Laurence G. Thomson. 1979 : 107) ได้แปลว่า "การสืบทอดการบรรลุสิ่งสัมบูรณ์" (Tradition of Absolute Attainment) พวกนี้มีแนวทางชีวิตคล้ายกับชาวพุทธและนักพรตก็ดำเนินชีวิตเหมือนกับพระในพุทธศาสนา ต้องสละโสด งดน้ำเมา รับประทานอาหารามังสวิรัติ และที่เคร่งครัดมาก ๆ อาจต้องไปอยู่ตามถ้ำในเขาในป่า

วิวัฒนาการของลัทธิเต๋ายังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้ถ้าเราศึกษาคำสอนในลัทธิเต๋า เราอาจจะแปลกใจที่เห็นคำสอนในพุทธศาสนาหลายเรื่องได้เข้าไปแทรกอยู่ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาแต่อดีตในยุคสมัยที่พุทธศาสนามหายานได้เข้าไปเผยแพร่ในจีน ลัทธิเต๋ามีส่วนอย่งมากที่ช่วยตีความคำสอนในพุทธศาสนาเป็นภาษาจีน และชาวพุทธอินเดียที่เข้าไปเผยแพร่ศาสนาในจีน ซึ่งอาจจะมีปัญหาในเรื่องภาษา ได้ใช้วิธียืมคำบางคำของเต๋ามาช่วยในการอธิบายแนวคิดของพุทธศาสนา ยิ่งนานวันเท่าใดอิทธิพลของพุทธศาสนาก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อลัทธิเต๋ามากขึ้น ถ้าเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่าไม่เพียงแต่ในด้านคำสอนเท่านั้น แม้แต่รูปแบบความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ก็ถูกนำไปปรับปรุงใช้จนกระทั่งนักบวชเต๋าที่เคยถือพรตตามถ้ำภูเขา ได้เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในอาราม และมีการถือโสดเช่นเดียวกับพระสงฆ์ในพุทธศาสนา อย่างเช่นนิกายชวนเชน เป็นต้น

ลัทธิเต๋าเคยรุ่งโรจน์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ต่อมาต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ยึดครองประเทศจีนในปี พ.ศ. 2492 ได้ออกคำสั่งขับไล่นักบวชศาสนาต่าง ๆ นานา เช่น ไม่อนุญาตให้ทำพิธีกรรมทางศาสนา และไม่ให้เผยแพร่ศาสนา ด้วยวิธีใดทั้งสิ้น ผู้นับถือลัทธิเต๋าในแผ่นดินใหญ่จึงเหลือน้อยมาก เพราะหลายคนได้อพยพไปอยู่ไต้หวันและถิ่นอื่น ๆ จนกระทั่งหลังจากที่ประธานเหมาได้สิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2520 การผ่อนคลายทางศาสนาของจีนแผ่นดินใหญ่จึงดีกว่าแต่ก่อน เพราะประชนชนสามารถประกอบพิธีกรรมได้

สำหรับชาวเต๋าที่อพยพไปอยู่ไต้หวันได้นำเอาความเชื่อและลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เคยกระทำเมื่อสมัยอยู่ประเทศจีนไปด้วย เป็นเหตุให้มีการเผยแพร่ศาสนาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งสมาคม การพิมพ์หนังสือธรรมะและการจัดพิธีถือศีลกินเจ นอกจากนี้ในบางนิกายมีเสรีภาพที่จะทำพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การทรงเจ้า การทำพิธีไล่ผีร้าย การปลุกเสกของขลังและการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ในวันสำคัญทางศาสนา ด้วยความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของผู้นับถือลัทธิเต๋าในไต้หวัน เป็นเหตุให้ทางราชการได้ยกย่องให้เป็นศาสนาประจำชาติ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดีตราบจนทุกวันนี้

วัดหรือสถานที่ทำพิธีกรรมของลัทธิเต๋ามีลักษณะเหมือนศาลเจ้าของจีนโดยทั่ว ๆ ไป เพียงแต่การตบแต่งภายในที่จะตั้งแท่นที่บูชานั้น ออกจะพิถีพิถันและมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์มากมาย แม้ในไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้นับถือลัทธิเต๋ามาก ก็ยังมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ต่างกันออกไป ระหว่างไต้หวันที่อยู่ตอนเหนือและตอนใต้ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าและไสยศาสตร์ แล.....
ดูเพิ่มเติม (ในเฟสบุ๊คมีแค่นี้ครับ)


บทพิเคราะห์ "ลัทธิเต๋า"
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล

ปรัชญาทั้งหลายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ก็ล้วนเป็นความรู้ทางโลก แม้จะศึกษาปรัชญาจนจบเป็นล้านๆครั้ง และจบมาแล้วเป็นล้านๆภพ ก็มิอาจทำให้ผู้นั้นสำเร็จวิชาที่แท้จริงได้ เพราะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เกิดมาแล้วก็ต้องเรียนใหม่ทุกภพชาติไปไม่สิ้นสุด มีแต่วิชาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สามารถเรียนจบได้คือ วิชาพระอรหันต์ เพราะเมื่อบุคคลใดเรียนจบแล้ว ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดเพื่อเรียนรู้โลกนี้อีกต่อไป ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรม ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีปรัชญาหรือแม้แต่ศาสนาอื่นใดจะมาเทียบเคียงได้ ลองพิจารณาด้วยเหตุแลผลเถิด

สัจธรรมที่เที่ยงคือ แม้จะเป็นยุคใดสมัยใด จะเป็นเมื่อล้านปี แสนปี หมื่นปี พันปี ร้อยปีที่ผ่านมา หรือในอนาคตข้างหน้าก็ตาม สังคมบนโลกใบนี้ ก็ล้วนต้องมีคนหลากหลายปะปนกัน ทุกกาลสมัยล้วนต้องมีการเกิด เป็นเด็ก คนหนุ่ม คนแก่ มีการเจ็บการตาย มีผู้นำ ผู้ตาม คนจน คนรวย สุขทุกข์ ผู้มีอำนาจ กษัตริย์ นักรบ ข้าทาส นักบวช นักปราชญ์ นักการเมือง นักการปกครอง นักกฎหมาย มีกฎ มีระเบียบ มีสารพันความวุ่นวาย ความเสมอภาคกันของมนุษย์ คือ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในฐานะอะไร เกิดในตระกูลแลเชื้อชาติใด จะยิ่งใหญ่หรือต่ำต้อยแค่ไหน ก็ล้วนเจอแต่ความวุ่นวายไม่สิ้นสุด หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น และหนีไม่พ้นความเจ็บความตายไปไม่พ้น

เมื่อผู้คนเกิดมามากมายบนโลกใบนี้แล้ว จึงมีผู้มีปัญญาจำนวนหนึ่งได้พยายามแสวงหาวิธีที่จะทำให้ตนเองแลผู้อื่นได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติแลสงบร่มเย็น จึงเกิดนักปราชญ์ นักปรัชญา และศาสดาขึ้นมามากมาย แต่นั้นก็เป็นเพียงการทุเลาให้สังคมวุ่นวายน้อยลงเท่านั้น แต่ไม่มีผู้ใดหรือศาสดาอื่นใดเลย ที่จะนำพาให้มนุษย์พ้นจากวัฏฏะสงสารไปได้ ก็มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่รู้แจ้งแห่งหนทางทางพ้นทุกข์นี้ นอกนั้น จึงเป็นผู้รู้แต่ทางโลกและยังหลงอยู่ในวัฏฏะสงสารเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปรัชญาทั้งหลายก็ยังมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ในสังคมหนึ่ง พระพุทธศาสนาก็ยังมีความจำเป็นสำหรับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ศาสนาอื่นก็ยังมีคุณต่อผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง นี้แหละความหลากหลายบนโลกธาตุนี้ และจะยังมีต่อไปไม่สิ้นสุดจนกว่า โลกธาตุนี้จะระเบิดและแตกสลายไปในอีกสามหมื่นล้านปีข้างหน้า (โลกมีอายุทั้งสิ้นหกหมื่นล้านปี) เมื่อโลกนี้กลับมาเกิดอีกครั้ง วังวนแลวัฏจักรนี้ก็จะหวนกลับมาเป็นดังเดิมอีกครั้ง แลเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่สิ้นสุด เรื่องแบบนี้รู้ด้วยอาสวักขยญาณอันกว้างไกลของพระอรหันต์เจ้า เป็นเรื่องอจินไตยที่อยู่เหนือการรับรู้ของปุถุชน จึงเป็นปัจจัตตังสำหรับนักภาวนาเท่านั้นครับ

ปรัชญา อภิปรัชญา ลัทธิ หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่งนั้น ย่อมบังเกิดขึ้นมาตามสภาวะแห่งการเกิดขึ้น เหตุที่บังเกิดขึ้นล้วนสอดคล้องกับสังคมนั้น ประเทศนั้น ในกาลเวลานั้น จึงเหมาะที่จะใช้กับสังคมหรือประเทศนั้นๆ ในกาลเวลาหนึ่ง จึงอาจไม่เหมาะกับสังคมอื่นหรือประเทศอื่น หรือแม้แต่แหล่งต้นกำเนิดเอง ดังจะเห็นได้จากวิวัฒนาการของลัทธิเต๋า ที่มีความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปตามสังคมใหม่ไม่สิ้นสุด แต่แก่นของเต๋านั้นอาจมีเหลืออยู่ เช่นเดียวกันกับศาสนาพุทธ เมื่อภายหลังต่อมาจนถึงปัจจุบัน แก่นของพุทธได้ถูกบิดเบียนไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่ธรรมะที่แท้จริงนั้นยังมีอยู่ เพราะพระอรหันต์เจ้าเป็นผู้สืบทอดธรรมนั้นเรื่อยมา แม้จะมีน้อยมากขึ้นก็ตาม แต่พระอรหันต์เจ้าแลธรรมจริงของพระพุทธเจ้าจะยังคงอยู่ต่อไป ตราบจนสิ้นกาลของพระพุทธศาสนา 5,000 ปี ธรรมะจริงของพระพุทธเจ้ายังรอผู้มีบุญวาสนาอยู่ และผู้มีปัญญาจะสามารถค้นพบวิถีของพุทธที่แท้จริงได้

ท่านทั้งหลาย สรรพสิ่งล้วนเป็นสิ่งสมมุติที่เกิดมีขึ้นในโลกใบนี้ ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว จะทรงตัวหรือดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่งและแปรปรวนไปในระยะหนึ่ง สุดท้ายก็จะดับสลายหายไปในที่สุด นี่คือสัจธรรมของโลกธาตุนี้ แล้วท่านจะเลือกเดินทางตามวิถีของปรัชญา ลัทธิ หรือศาสนาใด ก็จงเลือกเอาเองเถิด ส่วนผมเห็นทางสว่างแห่งความพ้นทุกข์แล้ว จึงไม่ลังเลสงสัยในการที่จะก้าวตามรอยบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถึงที่สุดแห่งธรรม

ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
17 กันยายน 2555