หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

(003) ซิกมันด์ ฟรอยด์ : บิดาแห่งจิตวิเคราะห์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
สงวนลิขสิทธิ์ ยกเว้นอ้างอิงตามหลักวิชาการ
25 กันยายน 2555
 

 


      ซิกมันด์ ฟรอยด์  (Sigmund Freud) เป็นจิตแพทย์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว เกิดในครอบครัวพ่อค้าขายผ้าขนสัตว์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 ที่เมืองฟรายเบิร์ก แคว้นโมราเวีย ในจักรวรรดิออสโตร-ฮังกาเรียน ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของประเทศเชโกสโลวะเกีย และเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1939 รวมอายุ 83 ปี ฟรอยด์นับเป็นยอดอัจฉริยะและได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งจิตวิทยา เขาเป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาในเรื่องนี้มากที่สุดคนหนึ่งของโลก ฟรอยด์ต้องฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตมากมายทั้งความอดทนต่อความทุกข์ ความโดดเดี่ยว และแม้แต่การไร้ซึ่งมิตรภาพที่แลกมาด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงานของเขา
 
     เมื่อฟรอยด์อายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวัยเด็กฟรอยด์ได้รับอิทธิพลทางความคิดเบื้องต้นจากบิดาของเขา ซึ่งเป็นชาวยิวสมัยใหม่ที่สนใจในแนวคิดเสรีนิยม สนใจในการเมืองและวรรณกรรมร่วมสมัย อีกทั้งยังชอบอ่านหนังสือมาก จึงทำให้เขาฉลาดและสอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง  เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาสอบเข้าศึกษาต่อวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนา หลังจากเรียนจบเขาได้ค้นคว้าต่อทางด้านเซลล์สมอง และได้รับทุนไปศึกษาเกี่ยวกับโรคทางสมองและประสาทที่กรุงปารีสกับชาร์โกต์ (Jean Martin Charcot) ซึ่งชาร์โกต์เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในยุโรปขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของฮิททีเรีย (Hysteria) และเทคนิคการรักษาอาการทางประสาทด้วยการสะกดจิต (Hypnotism) ความเข้าใจที่ฟรอยด์ได้รับจากชาร์โกต์ ทำให้เขาหันมาสนใจค้นคว้าเรื่อง "จิตไร้สำนึก และ ความเก็บกด ของมนุษย์ในเวลาต่อมา เมื่อกลับมายังกรุงเวียนนา เขาตัดสินใจทำงานเป็นแพทย์ทางด้านสมองและประสาท และแต่งงานกับมาร์ธา เบิร์นเนย์ จนมีลูกด้วยกันถึง 6 คน
หลังจากที่เดินทางกลับจากการทำงานกับชาร์โกต์ที่ปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1886 เป็นต้นมา ฟรอยด์ได้ให้ความสนใจกับงานด้านการบำบัดโรคประสาท และเทคนิคทางด้านการสะกดจิตอย่างจริงจัง ฟรอยด์ได้พบว่า คนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะทางจิตใจไม่ใช่ทางร่างกาย เขาจึงใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ คือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้น เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยหลายรายหายจากการอัมพาตเมื่อรักษาด้วยวิธีนี้ เทคนิควิธีการรักษานี้เรียกว่า Free Association อันเป็นพื้นฐานของการรักษาคนไข้ตราบเท่าทุกวันนี้
ฟรอยด์ได้ค้นพบว่า ความยากลำบากที่คนไข้ต้องประสบในการเล่าหรือระบายความในใจเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ในอดีตของตน เป็นเพราะมีกระบวนการ ต่อต้าน (Resistance) เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ป่วย จากการต่อต้าน ฟรอยด์ได้ค้นพบกระบวนการ เก็บกด ซึ่งเป็นกระบวนการที่จิตไร้สำนึกของมนุษย์ ซ่อนเร้นปิดบังความรู้สึกและความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตเอาไว้ (ยศ  สันตสมบัติ.2542:10)  และจากประสบการณ์ในการรักษาด้วยวิธีนี้ ทำให้ฟรอยด์พบว่า ความทรงจำที่คนไข้เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของประสบการณ์ทางเซ็กส์ในวัยเด็ก ในตอนแรก มีผู้คัดค้านไม่ยอมรับ แต่ฟรอยด์ก็ได้ศึกษาและทดลอง จนผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับทั่วไปในที่สุด
       นอกจากความสามารถในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่โด่งดังดังกล่าวแล้ว ฟรอยด์ยังให้ความสนใจในการศึกษาและพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของเขาว่า หลังจากที่ฉันได้ใช้เวลาอันยาวนาน อ้อมผ่านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แพทยศาสตร์ และจิตบำบัด ความสนใจของฉันก็หวนกลับไปสู่ปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งได้ประทับตรึงอยู่ในใจฉันมาเนิ่นนานตั้งแต่เด็กยังไม่โตพอที่จะคิดเป็น (ยศ  สันตสมบัติ. 2542:ไม่ปรากฏเลขหน้า) นักปราชญ์คนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเขาเช่น เพลโต, ฮูม, ฟูเออร์บาร์ค, จอห์น สจ๊วต มิลล์, นิทเช่ โดยเฉพาะ เอ็ดเวิร์ด ฮาร์ตมานน์ ได้มีอิทธิพลต่อแนวความคิดทางการเมืองและความสนใจในปัญหาเชิงสังคมวัฒนธรรมของฟรอยด์เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นเขายังสนใจในทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส ดาร์วิน   รวมทั้งงานของ เอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์, จอห์น ลับบอค, ลิววิส เฮนรี มอร์แกน และนักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการอีกหลายคน เป็นต้น
       ยศ  สันตสมบัติ (2542) ได้ศึกษาจิตวิเคราะห์และทฤษฎีสังคมของซิกมันด์ ฟรอยด์ อย่างละเอียด โดยได้อธิบายว่า ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อาจแบ่งออกได้เป็นสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ การศึกษากระบวนการเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) ส่วนที่สองคือ การอธิบายระบบค่านิยม ศาสนา และระบบวัฒนธรรม ซึ่งทฤษฎีทั้งสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เพราะกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมย่อมได้รับอิทธิพลจากระบบวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังได้อธิบายถึงการสร้างกรอบทฤษฎีเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมพอสรุปได้ดังนี้

 
        จิตไร้สำนึก (Unconscious) จากการศึกษาฮิสทีเรียทำให้ฟรอยด์ค้นพบว่า คนเราอาจเก็บกดความทรงจำไว้ในจิตไร้สำนึก และความทรงจำนั้นย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตของคนผู้นั้นต่อไปในภายภาคหน้า จิตไร้สำนึกตามทัศนะของฟรอยด์จึงเป็นกระบวนการที่มนุษย์ขจัดประสบการณ์และความทรงจำอันเจ็บปวดออกจากจิตสำนึกของตน ฟรอยด์ได้เขียนงานสำคัญที่เกี่ยวกับมโนทัศน์เรื่องจิตไร้สำนึกก็คือ การแปลความฝัน (Interpretation of Dream) ในปี 1900 ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่า การที่มนุษย์เรามีความฝันเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จิตไร้สำนึกของมนุษย์มีจริงและทำงานอยู่ตลอดเวลาทั้งในยามหลับและยามตื่น ในความฝัน จิตไร้สำนึกของมนุษย์อาจเสนอความคิดที่ขัดแย้งกันออกมา หรือความคิดเหล่านั้นอาจถูกเสนอออกมาในรูปของสัญลักษณ์ (Symbol) ซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งอื่น เช่น งู อาจเป็นตัวแทนขององคชาตหรืออวัยวะเพศชาย (Phallic) ฟรอยด์เรียกกระบวนการที่สัญลักษณ์อันหนึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งอื่นนี้ว่า การแทนที่ (Displacement)

 
        สัญชาตญาณและเซ็กส์ ฟรอยด์เชื่อว่า สัญชาตญาณทางเซ็กส์เป็นสิ่งที่มนุษย์มีอยู่ตั้งแต่เกิด และพัฒนาขึ้นพร้อมๆ กับกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ฟรอยด์ยังได้แบ่งแยกระหว่าง เป้าหมายทางเซ็กส์ (Sexual Object) กับ จุดมุ่งหมายทางเซ็กส์ (Sexual Aims) เป้าหมายทางเซ็กส์ อาจจะเป็นใครสักคน ทั้งเพศชายและเพศหญิง ผู้ชายคนหนึ่งอาจปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเป้าหมายทางเซ็กส์ของเขา ผู้หญิงก็เช่นเดียวกัน อาจปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงด้วยกัน เป้าหมายทางเซ็กส์จึงอาจเป็นได้ทั้งชายและหญิง ไม่จำกัดเพศและวัย ส่วน จุดมุ่งหมายทางเซ็กส์ หมายถึงพฤติกรรมหรือการกระทำ เช่น การสัมผัสเล้าโลม กอดจูบ การมองดู จนกระทั่งถึงการสมสู่ รวมทั้งการกระทำที่เป็นซาดิติกและมาโซชิสติก อย่างไรก็ตาม เซ็กส์ตามทัศนะของฟรอยด์ครอบคลุมไปถึงสัญชาตญาณและพฤติกรรมของเด็กทารก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ด้วย  มโนทัศน์เรื่องเซ็กส์ของฟรอยด์นี้  ยศ สันตสมบัติ เน้นว่า มันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ เพราะมโนทัศน์นี้ช่วยปูพื้นฐานของแนวทางในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายมนุษย์ การแสวงหาความพึงพอใจ และการเรียนรู้ทางสังคม ฟรอยด์ชี้ให้เราเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์ พยายามตักตวงความสุขความพึงพอใจทางสัญชาตญาณให้มากที่สุด และในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็พยายามหลีกเลี่ยงความรู้สึกผิด (Guilt) และการลงโทษ (Punishment)

 
        เซ็กส์และศีลธรรม ฟรอยด์เชื่อว่า ผู้ที่มีสัญชาตญาณทางเซ็กส์ที่รุนแรง แต่เก็บกดความต้องการของตนไว้และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม มักกลายมาเป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งฟรอยด์เรียกว่า นิวโรสิส (Neurosis หรือ Psychoneurosis) ผู้ที่ป่วยหรือมีอาการทางจิตเหล่านี้ คือคนที่ยึดถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ระบบศีลธรรมกำหนดเอาไว้ แต่การยึดถือปฏิบัติตามกรอบของจารีตประเพณีและระบบศีลธรรมนั้น ทำให้คนเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดใช้ไปอย่างมาก ผู้ป่วยประเภทนี้จึงมักเป็นผู้มีสัญชาตญาณทางเซ็กส์รุนแรง และไม่มีความสามารถพอที่จะแปลง (Sublimate) สัญชาตญาณทางเซ็กส์ของตนไปสู่กิจกรรมประเภทอื่นๆ เช่น กีฬา การทดลอง ศิลปะ และดนตรี  นอกจากนั้น ฟรอยด์ยังได้แสดงทัศนะว่า เด็กๆ เริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสังคมวัฒนธรรมของตนมากขึ้น เมื่อเด็กย่างเข้าสู่ระยะองคชาต (อายุ 3-5 ขวบ) ซึ่งเป็นระยะที่เด็กเริ่มเรียนรู้และได้รับการอบรมให้รู้จักบทบาทของตน ถูกสอนให้ประพฤติตนเป็น เด็กชาย หรือ เด็กหญิง ที่ดีตามวัฒนธรรมได้กำหนดไว้

 
       ปมเอดิปัส (Oedipus Complex) เป็นคำที่ฟรอยด์หยิบยืมมาจากบทละครเรื่อง “Oedipus Rex” ของโซโพคลีส จากบทละครในเรื่องนี้ ฟรอยด์เสนอว่า ความรู้สึกที่เด็กๆ ทุกคนต้องประสบมาในช่วงระยะองคชาต นั่นคือ ความรู้สึกรักหวงแหน ต้องการความใกล้ชิด และความอบอุ่นจากแม่ ปมเอดิปัส เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของเด็กชายที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับแม่ แต่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับพ่อ เด็กชายจะแข่งขันกับพ่อและต้องการขจัดพ่อออกไปด้วย เพื่อฝันที่เป็นจริงของตนจะได้เป็นเจ้าของแม่แต่เพียงผู้เดียว เด็กชายจึงมีพฤติกรรมเชิงอริกับพ่ออย่างมากช่วงหนึ่งอย่างไร้เดียงสา กรณีของเด็กหญิงก็มีปมคล้ายๆ กันที่เรียกว่า ปมอิเล็กตร้า (Electra Complex) ซึ่งเป็นปมติดพ่อหรือปมรักพ่อ  ฟรอยด์เชื่อว่า เด็กๆ ทั้งชายและหญิงมีลักษณะของความเป็นชาย (Masculinity) และความเป็นหญิง (Femininity) อยู่ในตัว ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีลักษณะของความเป็นชายและผูกพันอยู่กับแม่ของตน เด็กชายก็มีลักษณะของความเป็นหญิงซึ่งก่อให้เกิดความผูกพันต่อพ่อเช่นเดียวกัน ในลักษณะเดียวกันเด็กชายก็มีความเป็นชายที่ก่อให้เกิดความผูกพันต่อแม่ และเด็กหญิงก็มีความเป็นหญิงที่ก่อให้เกิดความผูกพันต่อพ่อของตนมาตั้งแต่เกิด  มนุษย์ตามทัศนะของฟรอยด์จึงมีลักษณะเป็น ไบเซ็กชวล (Bisexual)

 
       กิติกร  มีทรัพย์ (2549:109) อธิบาย ปมเอดิปัส ว่า จิตวิทยาสมัยใหม่วิเคราะห์ว่าเรื่องนี้เป็นธรรมชาติของพัฒนาการของมนุษย์ เด็กชายเป็นคู่แข่งกับพ่อ ก็จะเลียนแบบพ่อทำตัวให้เหมือนพ่อมากขึ้นในทุกลีลา ท่าทางการพูดจาวิสาสะ อารมณ์และรสนิยมการแต่งตัว ซึ่งจะทำให้เด็กชายเป็นชายสมชาย กรณีที่เด็กชายบางคนขาดพ่อ เด็กชายจะอาศัยผู้ชายอื่นในบ้านหรือเพื่อนบ้านเป็นต้นแบบแทน ต้นแบบจึงมีความสำคัญ หากได้ต้นแบบนุ่มๆ โน้มเอียงไปทางขี้อ้อน หน่อมแน้ม เด็กชายจะขาดความมาดมั่น ทะมัดทะแมง ดูเป็นซิสซี่บอยหรืออีผู้ชายไปได้
       ยศ  สันตสมบัติ (2542:44-46) อธิบายถึงทฤษฎีสังคมของฟรอยด์ว่า มีรากเหง้ามาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากทฤษฎีสังคมอื่นๆ โดยสิ้นเชิง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ทฤษฎีสังคมของฟรอยด์เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยอารมณ์ (Emotions) และอิทธิพลของอารมณ์ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์... นอกจากจิตไร้สำนึกแล้ว พื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีสังคมของฟรอยด์ก็คือ มโนทัศน์เรื่อง สัญชาตญาณแห่งความตาย (Death Instinct) ซึ่งฟรอยด์ค้นพบว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลกมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการเซ่นสังเวยและการบูชายัญ อันเป็นส่วนสำคัญในระบบสัญลักษณ์ของศาสนาต่างๆ ความสนใจในด้านนี้จึงทำให้ ฟรอยด์เขียนหนังสือเรื่อง Totem and Taboo ในปี ค.ศ. 1913         
 กิติกร  มีทรัพย์ (2549:132-133) อธิบาย Totem and Taboo ว่า สาระสำคัญอยู่ตรงนำเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ไปอธิบายระบบความเชื่อของมนุษย์ในสังคมบรรพกาล ซึ่งมนุษย์ยังแยกกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ คนที่เข้มแข็งที่สุดในกลุ่มคือ พ่อ มีอำนาจเหนือกว่าใครๆ ทั้งหมด อันทำให้ลูกชายเกิดความรู้สึกถูกกดดัน เพราะอำนาจของพ่อ ลูกชายจึงร่วมมือกันต่อต้านและฆ่าพ่อ แต่เกิดความรู้สึกผิดบาปขึ้นภายหลัง จึงพยายามเก็บกดความปรารถนาของตนที่มีต่อแม่ พี่สาว หรือน้องสาวของตน อันเป็นต้นกำเนิดข้อห้ามรักร่วมสายเลือด (Incest) หรือการสมรสเผ่าพันธุ์เดียวกัน ฟรอยด์เชื่อว่า โทเท็ม (Totem) หรือรูปเคารพเหล่านั้น เป็นสัญลักษณ์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของพ่อที่ถูกฆ่าตายไปแล้ว หรือเป็นสัญลักษณ์บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ นัยหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันที่ลูกๆ มีต่อพ่อของเขา ขณะเดียวกันโทเท็มก็เป็นสัญลักษณ์ของความหวาดกลัวความเกลียดชังในตัวพ่อด้วยเหมือนกัน การฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เป็นสัญชาตญาณแห่งความตายของมนุษย์ ผลงานโทเท็ม แอนด์ ตาบูนี้ เป็นความพยายามของ ฟรอยด์ที่จะใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาอธิบายความเชื่อ (Belief) ของมนุษย์
ในช่วงปี ค.ศ. 1923  ฟรอยด์ได้เขียนงานชื่อ The Ego and the Id  ซึ่งมีสาระสำคัญคือ โครงสร้างจิตใจของบุคคลอันประกอบไปด้วย อีโก้, ซูเปอร์อีโก้ และ อิด ดังนี้
อิด (Id) เป็นส่วนหนึ่งของจิต ซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นจิตไร้สำนึกที่เต็มไปด้วยสัญชาตญาณและความต้องการ ความจำสำคัญทั้งปวงที่เก็บกักไว้ เป็นส่วนดำมืดของคน เป็นปีศาจหรือมาร
ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) หมายถึงคุณธรรม ความงาม ความดี ประเพณีและจริยธรรม เป็นศีลธรรมและความรู้สึกที่ฝังอยู่ภายใน เป็นคุณสมบัติที่เด็กๆ ได้จากพ่อแม่โดยตรงและโดยการเรียนรู้ว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่วด้วยตนเอง
อีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่สาม เป็นตัวจัดการร่วมกับอิดและยืนอยู่คนละข้างกับซูเปอร์อีโก้ เป็นตัวการของความจริงด้วยการรับรู้ คิดและจำ อีโก้จะป้องกันไม่ให้ปรารถนาที่เป็นข้อห้ามไหลบ่าท่วมท้น กับพัฒนากลไกทางจิต เช่น เก็บกด เลียนแบบ เปลี่ยนที่ ใส่โทษผู้อื่น โดดเดี่ยว ปฏิเสธไม่รับรู้และอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อีโก้ต้องเจ็บปวด เสียหน้าหรือต่ำต้อย แต่กลไกทางจิตนี้อยู่นอกเหนือจิตสำนึก เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว (กิติกร  มีทรัพย์. 2549:67-68)
แสดงว่าจิตใต้สำนึกของคนเราที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนนั้น อิด จะเป็นพลังอารมณ์ความรู้สึกที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดหรือเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณดิบของคนเรานั่นเอง เช่น รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งหากคนเรามีอิดเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ ในขณะที่ ซุปเปอร์อีโก้ จะเป็นพลังงานที่เกิดจากการเรียนรู้ค่านิยมต่างๆ เช่น ความดี ความชั่ว มโนธรรมหรือศีลธรรม ซึ่งเป็นพลังในส่วนดีของจิตมนุษย์ที่จะคอยหักล้างกับพลังอิด ทั้งนี้ในระหว่างความสุดขั้วของอิดและซุปเปอร์อีโก้นั้น จะมี อีโก้ อยู่ระหว่างกลางคอยทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้คนเราแสดงออกด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปคือ ด้านหนึ่งควบคุมอิดไม่ให้มีสัญชาตญาณดิบออกมามากเกินไป แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่ถึงขั้นทำให้คนเราแสดงออกซึ่งมโนธรรมหรืออีโก้เพียงอย่างเดียวเช่นกัน หรืออาจสรุปสั้นๆ ว่า อิด เป็นแรงขับของจิตใต้สำนึก ความคิด ร่างกาย จิตวิทยา และเพศ หรือที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาที่เราต้องการ ซูเปอร์อีโก้ เป็นตัวตรวจสอบ ตักเตือนหิริโอตตัปปะ หรือควบคุมการแสดงบุคลิกภาพทางสังคมของคนว่าสิ่งใดควรจะทำหรือสิ่งใดไม่ควรทำ หรือที่เรียกว่าเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นกฎเกณฑ์ปฏิบัติในชีวิต  อีโก้ เป็นตัวปรองดองระหว่างความต้องการของ อิด และ ซูเปอร์อีโก้  หรืออีโก้ก็คือตัวของเราที่อยู่ตรงกลางนั่นเอง
ยศ  สันตสมบัติ (2542:66-69) อธิบายว่า ตามทัศนะของฟรอยด์ ความปรารถนาที่จะใช้ความรุนแรงถูกควบคุมโดยซูเปอร์อีโก้ในระดับจิตไร้สำนึก ทุกครั้งที่ความปรารถนาที่จะใช้ความรุนแรงถูกระงับ ซูเปอร์อีโก้ของบุคคลนั้นจะเข้มแข็งขึ้นแต่บุคคลนั้นก็จะมีความรู้สึกผิด อันเป็นผลเนื่องมาจากว่าความรุนแรงถูกกักเก็บไว้ภายใน ไม่ได้รับการระบายออก เพราะซูเปอร์อีโก้ตักเตือนหากความรู้สึกผิดมีมาก จะทำให้บุคคลลงโทษตนเอง ใช้ความรุนแรงต่อตนเอง...ใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่ถูกตำหนิโดยซูเปอร์อีโก้จะไม่รู้สึกผิด แต่เขาก็ย่อมมิใช่มนุษย์ตามมาตรฐานของสังคมโดยทั่วไป... ความรู้สึกผิดเป็นรากเหง้าของอารยธรรม... สถาบันศาสนานำเอาความรู้สึกผิดมาเป็นเครื่องมือบังคับให้มนุษย์ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ สถาบันศาสนาจึงมีลักษณะเป็น ซูเปอร์อีโก้ในระดับวัฒนธรรม (Cultural Superego) หรือกลไกในการถ่ายทอดความรู้สึกผิดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
ในปี ค.ศ. 1927 ฟรอยด์ได้นำเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาประยุกต์ใช้อธิบายสังคมในงานเขียนเรื่อง The Future of an Illusion ในหนังสือเล่มนี้ ฟรอยด์ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการที่วัฒนธรรมถ่ายทอดค่านิยมและความเชื่อจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยผ่านองค์กรสังคมที่สำคัญคือ ศาสนา ซึ่งมนุษย์เรามีการตอบสนองต่อศาสนาและคำสั่งสอนทางศาสนา คล้ายๆ กับที่เรามีการสนองตอบและมีความผูกพันต่อพ่อ และศาสนาตามทัศนะของฟรอยด์ก็คือ เป็นเรื่องของอารมณ์ไม่ใช่เรื่องของเหตุผลหรือประสบการณ์  ศาสนาจึงเป็นเสมือนดั่ง ภาพลวง (Illusion) ที่สนองตอบความปรารถนาของมนุษย์   และศาสนาจะดำรงอยู่ได้ในสังคมและอารยธรรมสมัยใหม่ ก็เพราะความปรารถนาหรือความต้องการที่พึ่งพิงทางอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ มิใช่ด้วยเหตุผล หลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 1937-1938 ฟรอยด์ได้เขียนหนังสือเรื่อง Moses and Monotheism อันเป็นช่วงที่นาซีเข้ายึดครองกรุงเวียนนา ในหนังสือเล่มนี้ ฟรอยด์พยายามที่จะอธิบายสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์สองกลุ่มที่มีความคล้ายคลึงทางศาสนา หรือมีพัฒนาการทางความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกัน ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในระดับจิตใต้สำนึก ความอิจฉาริษยาและความเกลียดชัง ผลักดันให้ชาวเยอรมันกระทำความรุนแรงต่อชาวยิวในที่สุด
พัฒนาการของจิตวิเคราะห์และทฤษฎีสังคมภายหลังฟรอยด์ แบ่งออกเป็นสามแนวทางหลักคือ 1) การพัฒนาทฤษฎีสังคมบนพื้นฐานของมโนทัศน์เรื่อง ความปรารถนา (Desire) ของมนุษย์ ซึ่งเป็นการมุ่งอธิบายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมและความปรารถนา จะเห็นได้ในผลงานของกลุ่มทฤษฎีจิตวิเคราะห์มนุษยนิยม และพวกฟรอยโด-มาร์กซิสต์  2) การพัฒนาจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์โดยเน้นความสำคัญของระบบสัญลักษณ์และความหมายของสัญลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาต่อชีวิตและธรรมชาติของมนุษย์ เช่น การพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ จาค ลากอง  3) การพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เน้นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง อุดมการณ์แห่งการกดขี่ทางเพศ ซึ่งเป็นผลงานของพวกเฟมินิสต์กลุ่มต่างๆ
กลุ่มนักทฤษฎีฟรอยโด-มาร์ซิสต์ ที่สานต่อและมีแนวความคิดพื้นฐานที่คล้ายคลึงกับ ฟรอยด์อย่างน้อยสองประการคือ  ประการแรก นักทฤษฎีฟรอยโด-มาร์กซิสต์ มีแนวความคิดที่คล้อยตามฟรอยด์ ในการให้ความสำคัญกับเซ็กส์และอิทธิพลของเซ็กส์ที่มีต่อปัจเจกบุคคลและพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม และเชื่อว่าความพึงพอใจทางเซ็กส์เป็นดัชนีชี้วัดความสุขของมนุษย์ ประการที่สอง พวกเขามีแนวความคิดที่สอดคล้องต้องกันว่า การเมือง และ เซ็กส์ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ดังจะเห็นได้จากนักทฤษฎีฟรอยโด-มาร์ซิสต์ท่านหนึ่งก็คือ เฮอร์เบิร์ต มาร์คูส ที่มีความเห็นคล้อยตามฟรอยด์ว่า การกดบังคับหรือการจำกัดพฤติกรรมทางเซ็กส์ของมนุษย์เป็นเงื่อนไขพื้นฐานอารยธรรม มาร์คูสเชื่อว่า สังคมที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและมีการจัดระเบียบทางสังคมที่สลับซับซ้อน เป็นสังคมที่มีการกดบังคับ (ส่วนเกิน) ต่อมนุษย์มาก และเป็นสังคมที่มีลักษณะของการกดขี่ทางชนชั้นสูง
จาค ลากอง (Jacqus Lacan) นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ และได้พยายามที่จะตีความและนำเสนอแนวความคิดของฟรอยด์ในรูปของกรอบทฤษฎีที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยผสมผสานทฤษฎีจิตวิเคราะห์และภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง (Structural Linguistics) เข้าด้วยกัน ซึ่งลากองเชื่อว่า ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ มนุษย์มิได้เกิดและเป็นอยู่ตามสภาพที่เขาเป็นโดยธรรมชาติ หากแต่มนุษย์เป็นซับเจค (Subject) ที่ถูกสร้างขึ้นจากกฎเกณฑ์ที่มาจากภายนอกตัวเขาเอง โดยผ่าน คำพูด (Speech) ของบุคคลอื่นๆ รอบตัวเขา
ยศ  สันตสมบัติ (2542:95) ได้อธิบายถึงมโนทัศน์เรื่องซับเจคของลากองว่า ซับเจค ของลากองมิได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า เอกลักษณ์ (Identity) หากแต่บ่งบอกลักษณะของความเป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นจากการแบ่งแยก (Splitting) เอกลักษณ์ของซับเจคแต่ละคน ตามทัศนะของลากองเป็นเพียงภาพสะท้อนที่ซับเจคสร้างขึ้นจากภาพลักษณ์ (Image) ที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้แก่เขา เมื่อเด็กทารกเรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ฉัน เด็กทารกผู้นั้นกำลังเรียนรู้คำเรียกขานที่ผู้อื่นซึ่งอยู่รอบข้างรับรู้และหยิบยื่นให้ คำว่า ฉัน มิได้มีความคงที่หรือผสมกลมกลืนไปกับตัวเด็ก คำๆ นี้เป็นสิ่งที่มาจากภายนอก มิได้เกิดขึ้นภายใน การมีตัวตนของบุคคลหนึ่งถูกกำหนดโดยโลกภายนอกที่รับรู้การดำรงอยู่ของบุคคลผู้นั้น และสะท้อนภาพลักษณ์ของเขากลับไป ก่อให้เกิดการมีตัวตน เอกลักษณ์แห่งความเป็นครูของซับเจคผู้หนึ่ง เป็นเพียงภาพสะท้อนที่ซับเจคสร้างขึ้น จากภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นรับรู้และบ่งบอก การรับรู้ภาพลักษณ์และความเป็นซับเจคของมนุษย์มีภาษาเป็นสื่อกลางที่ทำหน้าที่แสดงออกและสื่อความหมาย มนุษย์จึงตกอยู่ภายใต้การครอบงำของภาษา ซึ่งสร้างเอกลักษณ์ ภาพลักษณ์ และความเป็นซับเจคให้แก่มนุษย์
นอกจากนั้น ลากองยังได้เสนอว่า การครอบงำของคำพูดหรือภาษา มีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของจิตใจและความคิดของมนุษย์ ที่ลากองใช้คำว่า ระบบสัญลักษณ์ (Symbolic System หรือ Symbolic Order) ซึ่งลากองให้ความหมายกว้างครอบคลุมไม่เพียงแต่เฉพาะภาษาหรือคำพูด แต่หากหมายรวมไปถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบกายเด็กตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงระบบวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ วิถีชีวิต ความเชื่อและความหมายของชีวิตให้กับสมาชิกสังคม ซึ่งลากองเสนอว่า ความมีตัวตน หรือ อัตตา (Selfhood) ของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางการครอบงำ การเปลี่ยนแปลงและความผันแปรในระบบสัญลักษณ์หรือวัฒนธรรม  
ยศ  สันตสมบัติ (2542:101-103) อธิบายเกี่ยวกับ ตัวตน ตามทัศนะของลากองว่า เด็กมองเห็นภาพลักษณ์ของตนเองจากการสะท้อนกลับที่เกิดจากความสัมพันธ์กับผู้อื่น การรับรู้ของเด็กต่อภาพลักษณ์นั้น ทำให้เด็กชื่นชมอยู่กับอัตตาหรือการมีตัวตนที่สมบูรณ์ อีโก้ของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากจินตนาการ ที่ปิดบังซ่อนเร้นการสูญเสีย หรือสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต อีโก้ถูกสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์การอ้างอิงและการสะท้อนกลับของผู้อื่น โครงสร้างของอีโก้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการครอบงำและจินตนาการ เป็นความแปลกแยกที่เกิดขึ้นครั้งแรกในชีวิต... เมื่อเด็กก้าวย่างเข้าสู่โลกแห่งสังคม กระบวนการแปลกแยกครั้งที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ภาษา การพูด การสื่อสาร การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาษา และการจัดระเบียบของระบบสัญลักษณ์ทำให้มนุษย์ผู้เป็นซับเจคจำต้องเปลี่ยนฐานะจากสภาพของการหลงตนเอง หรืออัตตาที่สมบูรณ์ในโลกแห่งจินตนาการของเด็ก (Imaginary Order) ไปสู่ฐานะทางสังคมที่ถูกกำหนดโดยระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) ที่มาครอบงำจากภายนอก ... การรับรู้ของมนุษย์ถูกกำหนดด้วยการแบ่งแยก ฉัน เธอ และ เขา และจากการแบ่งแยกนี้เองที่มนุษย์เรียนรู้ รับรู้ และบ่งบอกความหมายของอัตตา (Self) ต่อผู้อื่น

 
จึงอาจกล่าวได้ว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นยอดอัจฉริยะและได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยา ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีสังคมอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะมโนทัศน์เรื่อง การเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) ความรู้สึกผิด (Guilt) วัฒนธรรมหรืออารยธรรม (Civilization) และซูเปอร์อีโก้ (Superego) รวมทั้งยังสามารถนำเอาทฤษฎีดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจกับระบบศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ ค่านิยม และระบบสัญลักษณ์ได้อีกด้วย แม้ในบางครั้งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อาจไม่ได้รับความยอมรับจากนักวิชาการบ้าง แต่อย่างน้อยทฤษฎีสังคมของเขาก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และตีความในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้ทฤษฎีของฟรอยด์เป็นแนวทางการศึกษาในแง่มุมที่แปลกใหม่และน่าสนใจอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
 
บรรณานุกรม
กิติกร  มีทรัพย์. (2549).  ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการทำงานและฟรอยด์บำบัด. กรุงเทพฯ: มติชน.
ยศ  สันตสมบัติ. (2542). ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

1 ความคิดเห็น: