หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

(003) ซิกมันด์ ฟรอยด์ : บิดาแห่งจิตวิเคราะห์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
สงวนลิขสิทธิ์ ยกเว้นอ้างอิงตามหลักวิชาการ
25 กันยายน 2555
 

 


      ซิกมันด์ ฟรอยด์  (Sigmund Freud) เป็นจิตแพทย์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว เกิดในครอบครัวพ่อค้าขายผ้าขนสัตว์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1856 ที่เมืองฟรายเบิร์ก แคว้นโมราเวีย ในจักรวรรดิออสโตร-ฮังกาเรียน ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของประเทศเชโกสโลวะเกีย และเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1939 รวมอายุ 83 ปี ฟรอยด์นับเป็นยอดอัจฉริยะและได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งจิตวิทยา เขาเป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาในเรื่องนี้มากที่สุดคนหนึ่งของโลก ฟรอยด์ต้องฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตมากมายทั้งความอดทนต่อความทุกข์ ความโดดเดี่ยว และแม้แต่การไร้ซึ่งมิตรภาพที่แลกมาด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงานของเขา
 
     เมื่อฟรอยด์อายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวัยเด็กฟรอยด์ได้รับอิทธิพลทางความคิดเบื้องต้นจากบิดาของเขา ซึ่งเป็นชาวยิวสมัยใหม่ที่สนใจในแนวคิดเสรีนิยม สนใจในการเมืองและวรรณกรรมร่วมสมัย อีกทั้งยังชอบอ่านหนังสือมาก จึงทำให้เขาฉลาดและสอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง  เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาสอบเข้าศึกษาต่อวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนา หลังจากเรียนจบเขาได้ค้นคว้าต่อทางด้านเซลล์สมอง และได้รับทุนไปศึกษาเกี่ยวกับโรคทางสมองและประสาทที่กรุงปารีสกับชาร์โกต์ (Jean Martin Charcot) ซึ่งชาร์โกต์เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในยุโรปขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของฮิททีเรีย (Hysteria) และเทคนิคการรักษาอาการทางประสาทด้วยการสะกดจิต (Hypnotism) ความเข้าใจที่ฟรอยด์ได้รับจากชาร์โกต์ ทำให้เขาหันมาสนใจค้นคว้าเรื่อง "จิตไร้สำนึก และ ความเก็บกด ของมนุษย์ในเวลาต่อมา เมื่อกลับมายังกรุงเวียนนา เขาตัดสินใจทำงานเป็นแพทย์ทางด้านสมองและประสาท และแต่งงานกับมาร์ธา เบิร์นเนย์ จนมีลูกด้วยกันถึง 6 คน
หลังจากที่เดินทางกลับจากการทำงานกับชาร์โกต์ที่ปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1886 เป็นต้นมา ฟรอยด์ได้ให้ความสนใจกับงานด้านการบำบัดโรคประสาท และเทคนิคทางด้านการสะกดจิตอย่างจริงจัง ฟรอยด์ได้พบว่า คนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะทางจิตใจไม่ใช่ทางร่างกาย เขาจึงใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ คือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้น เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยหลายรายหายจากการอัมพาตเมื่อรักษาด้วยวิธีนี้ เทคนิควิธีการรักษานี้เรียกว่า Free Association อันเป็นพื้นฐานของการรักษาคนไข้ตราบเท่าทุกวันนี้
ฟรอยด์ได้ค้นพบว่า ความยากลำบากที่คนไข้ต้องประสบในการเล่าหรือระบายความในใจเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ในอดีตของตน เป็นเพราะมีกระบวนการ ต่อต้าน (Resistance) เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ป่วย จากการต่อต้าน ฟรอยด์ได้ค้นพบกระบวนการ เก็บกด ซึ่งเป็นกระบวนการที่จิตไร้สำนึกของมนุษย์ ซ่อนเร้นปิดบังความรู้สึกและความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีตเอาไว้ (ยศ  สันตสมบัติ.2542:10)  และจากประสบการณ์ในการรักษาด้วยวิธีนี้ ทำให้ฟรอยด์พบว่า ความทรงจำที่คนไข้เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของประสบการณ์ทางเซ็กส์ในวัยเด็ก ในตอนแรก มีผู้คัดค้านไม่ยอมรับ แต่ฟรอยด์ก็ได้ศึกษาและทดลอง จนผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับทั่วไปในที่สุด
       นอกจากความสามารถในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่โด่งดังดังกล่าวแล้ว ฟรอยด์ยังให้ความสนใจในการศึกษาและพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของเขาว่า หลังจากที่ฉันได้ใช้เวลาอันยาวนาน อ้อมผ่านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แพทยศาสตร์ และจิตบำบัด ความสนใจของฉันก็หวนกลับไปสู่ปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งได้ประทับตรึงอยู่ในใจฉันมาเนิ่นนานตั้งแต่เด็กยังไม่โตพอที่จะคิดเป็น (ยศ  สันตสมบัติ. 2542:ไม่ปรากฏเลขหน้า) นักปราชญ์คนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเขาเช่น เพลโต, ฮูม, ฟูเออร์บาร์ค, จอห์น สจ๊วต มิลล์, นิทเช่ โดยเฉพาะ เอ็ดเวิร์ด ฮาร์ตมานน์ ได้มีอิทธิพลต่อแนวความคิดทางการเมืองและความสนใจในปัญหาเชิงสังคมวัฒนธรรมของฟรอยด์เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นเขายังสนใจในทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส ดาร์วิน   รวมทั้งงานของ เอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์, จอห์น ลับบอค, ลิววิส เฮนรี มอร์แกน และนักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการอีกหลายคน เป็นต้น
       ยศ  สันตสมบัติ (2542) ได้ศึกษาจิตวิเคราะห์และทฤษฎีสังคมของซิกมันด์ ฟรอยด์ อย่างละเอียด โดยได้อธิบายว่า ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อาจแบ่งออกได้เป็นสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ การศึกษากระบวนการเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) ส่วนที่สองคือ การอธิบายระบบค่านิยม ศาสนา และระบบวัฒนธรรม ซึ่งทฤษฎีทั้งสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เพราะกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมย่อมได้รับอิทธิพลจากระบบวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังได้อธิบายถึงการสร้างกรอบทฤษฎีเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมพอสรุปได้ดังนี้

 
        จิตไร้สำนึก (Unconscious) จากการศึกษาฮิสทีเรียทำให้ฟรอยด์ค้นพบว่า คนเราอาจเก็บกดความทรงจำไว้ในจิตไร้สำนึก และความทรงจำนั้นย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตของคนผู้นั้นต่อไปในภายภาคหน้า จิตไร้สำนึกตามทัศนะของฟรอยด์จึงเป็นกระบวนการที่มนุษย์ขจัดประสบการณ์และความทรงจำอันเจ็บปวดออกจากจิตสำนึกของตน ฟรอยด์ได้เขียนงานสำคัญที่เกี่ยวกับมโนทัศน์เรื่องจิตไร้สำนึกก็คือ การแปลความฝัน (Interpretation of Dream) ในปี 1900 ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่า การที่มนุษย์เรามีความฝันเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จิตไร้สำนึกของมนุษย์มีจริงและทำงานอยู่ตลอดเวลาทั้งในยามหลับและยามตื่น ในความฝัน จิตไร้สำนึกของมนุษย์อาจเสนอความคิดที่ขัดแย้งกันออกมา หรือความคิดเหล่านั้นอาจถูกเสนอออกมาในรูปของสัญลักษณ์ (Symbol) ซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งอื่น เช่น งู อาจเป็นตัวแทนขององคชาตหรืออวัยวะเพศชาย (Phallic) ฟรอยด์เรียกกระบวนการที่สัญลักษณ์อันหนึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งอื่นนี้ว่า การแทนที่ (Displacement)

 
        สัญชาตญาณและเซ็กส์ ฟรอยด์เชื่อว่า สัญชาตญาณทางเซ็กส์เป็นสิ่งที่มนุษย์มีอยู่ตั้งแต่เกิด และพัฒนาขึ้นพร้อมๆ กับกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ฟรอยด์ยังได้แบ่งแยกระหว่าง เป้าหมายทางเซ็กส์ (Sexual Object) กับ จุดมุ่งหมายทางเซ็กส์ (Sexual Aims) เป้าหมายทางเซ็กส์ อาจจะเป็นใครสักคน ทั้งเพศชายและเพศหญิง ผู้ชายคนหนึ่งอาจปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเป้าหมายทางเซ็กส์ของเขา ผู้หญิงก็เช่นเดียวกัน อาจปรารถนาที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงด้วยกัน เป้าหมายทางเซ็กส์จึงอาจเป็นได้ทั้งชายและหญิง ไม่จำกัดเพศและวัย ส่วน จุดมุ่งหมายทางเซ็กส์ หมายถึงพฤติกรรมหรือการกระทำ เช่น การสัมผัสเล้าโลม กอดจูบ การมองดู จนกระทั่งถึงการสมสู่ รวมทั้งการกระทำที่เป็นซาดิติกและมาโซชิสติก อย่างไรก็ตาม เซ็กส์ตามทัศนะของฟรอยด์ครอบคลุมไปถึงสัญชาตญาณและพฤติกรรมของเด็กทารก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ด้วย  มโนทัศน์เรื่องเซ็กส์ของฟรอยด์นี้  ยศ สันตสมบัติ เน้นว่า มันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ เพราะมโนทัศน์นี้ช่วยปูพื้นฐานของแนวทางในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายมนุษย์ การแสวงหาความพึงพอใจ และการเรียนรู้ทางสังคม ฟรอยด์ชี้ให้เราเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์ พยายามตักตวงความสุขความพึงพอใจทางสัญชาตญาณให้มากที่สุด และในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็พยายามหลีกเลี่ยงความรู้สึกผิด (Guilt) และการลงโทษ (Punishment)

 
        เซ็กส์และศีลธรรม ฟรอยด์เชื่อว่า ผู้ที่มีสัญชาตญาณทางเซ็กส์ที่รุนแรง แต่เก็บกดความต้องการของตนไว้และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม มักกลายมาเป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งฟรอยด์เรียกว่า นิวโรสิส (Neurosis หรือ Psychoneurosis) ผู้ที่ป่วยหรือมีอาการทางจิตเหล่านี้ คือคนที่ยึดถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ระบบศีลธรรมกำหนดเอาไว้ แต่การยึดถือปฏิบัติตามกรอบของจารีตประเพณีและระบบศีลธรรมนั้น ทำให้คนเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดใช้ไปอย่างมาก ผู้ป่วยประเภทนี้จึงมักเป็นผู้มีสัญชาตญาณทางเซ็กส์รุนแรง และไม่มีความสามารถพอที่จะแปลง (Sublimate) สัญชาตญาณทางเซ็กส์ของตนไปสู่กิจกรรมประเภทอื่นๆ เช่น กีฬา การทดลอง ศิลปะ และดนตรี  นอกจากนั้น ฟรอยด์ยังได้แสดงทัศนะว่า เด็กๆ เริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสังคมวัฒนธรรมของตนมากขึ้น เมื่อเด็กย่างเข้าสู่ระยะองคชาต (อายุ 3-5 ขวบ) ซึ่งเป็นระยะที่เด็กเริ่มเรียนรู้และได้รับการอบรมให้รู้จักบทบาทของตน ถูกสอนให้ประพฤติตนเป็น เด็กชาย หรือ เด็กหญิง ที่ดีตามวัฒนธรรมได้กำหนดไว้

 
       ปมเอดิปัส (Oedipus Complex) เป็นคำที่ฟรอยด์หยิบยืมมาจากบทละครเรื่อง “Oedipus Rex” ของโซโพคลีส จากบทละครในเรื่องนี้ ฟรอยด์เสนอว่า ความรู้สึกที่เด็กๆ ทุกคนต้องประสบมาในช่วงระยะองคชาต นั่นคือ ความรู้สึกรักหวงแหน ต้องการความใกล้ชิด และความอบอุ่นจากแม่ ปมเอดิปัส เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของเด็กชายที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับแม่ แต่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับพ่อ เด็กชายจะแข่งขันกับพ่อและต้องการขจัดพ่อออกไปด้วย เพื่อฝันที่เป็นจริงของตนจะได้เป็นเจ้าของแม่แต่เพียงผู้เดียว เด็กชายจึงมีพฤติกรรมเชิงอริกับพ่ออย่างมากช่วงหนึ่งอย่างไร้เดียงสา กรณีของเด็กหญิงก็มีปมคล้ายๆ กันที่เรียกว่า ปมอิเล็กตร้า (Electra Complex) ซึ่งเป็นปมติดพ่อหรือปมรักพ่อ  ฟรอยด์เชื่อว่า เด็กๆ ทั้งชายและหญิงมีลักษณะของความเป็นชาย (Masculinity) และความเป็นหญิง (Femininity) อยู่ในตัว ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีลักษณะของความเป็นชายและผูกพันอยู่กับแม่ของตน เด็กชายก็มีลักษณะของความเป็นหญิงซึ่งก่อให้เกิดความผูกพันต่อพ่อเช่นเดียวกัน ในลักษณะเดียวกันเด็กชายก็มีความเป็นชายที่ก่อให้เกิดความผูกพันต่อแม่ และเด็กหญิงก็มีความเป็นหญิงที่ก่อให้เกิดความผูกพันต่อพ่อของตนมาตั้งแต่เกิด  มนุษย์ตามทัศนะของฟรอยด์จึงมีลักษณะเป็น ไบเซ็กชวล (Bisexual)

 
       กิติกร  มีทรัพย์ (2549:109) อธิบาย ปมเอดิปัส ว่า จิตวิทยาสมัยใหม่วิเคราะห์ว่าเรื่องนี้เป็นธรรมชาติของพัฒนาการของมนุษย์ เด็กชายเป็นคู่แข่งกับพ่อ ก็จะเลียนแบบพ่อทำตัวให้เหมือนพ่อมากขึ้นในทุกลีลา ท่าทางการพูดจาวิสาสะ อารมณ์และรสนิยมการแต่งตัว ซึ่งจะทำให้เด็กชายเป็นชายสมชาย กรณีที่เด็กชายบางคนขาดพ่อ เด็กชายจะอาศัยผู้ชายอื่นในบ้านหรือเพื่อนบ้านเป็นต้นแบบแทน ต้นแบบจึงมีความสำคัญ หากได้ต้นแบบนุ่มๆ โน้มเอียงไปทางขี้อ้อน หน่อมแน้ม เด็กชายจะขาดความมาดมั่น ทะมัดทะแมง ดูเป็นซิสซี่บอยหรืออีผู้ชายไปได้
       ยศ  สันตสมบัติ (2542:44-46) อธิบายถึงทฤษฎีสังคมของฟรอยด์ว่า มีรากเหง้ามาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากทฤษฎีสังคมอื่นๆ โดยสิ้นเชิง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ทฤษฎีสังคมของฟรอยด์เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยอารมณ์ (Emotions) และอิทธิพลของอารมณ์ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์... นอกจากจิตไร้สำนึกแล้ว พื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีสังคมของฟรอยด์ก็คือ มโนทัศน์เรื่อง สัญชาตญาณแห่งความตาย (Death Instinct) ซึ่งฟรอยด์ค้นพบว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลกมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการเซ่นสังเวยและการบูชายัญ อันเป็นส่วนสำคัญในระบบสัญลักษณ์ของศาสนาต่างๆ ความสนใจในด้านนี้จึงทำให้ ฟรอยด์เขียนหนังสือเรื่อง Totem and Taboo ในปี ค.ศ. 1913         
 กิติกร  มีทรัพย์ (2549:132-133) อธิบาย Totem and Taboo ว่า สาระสำคัญอยู่ตรงนำเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ไปอธิบายระบบความเชื่อของมนุษย์ในสังคมบรรพกาล ซึ่งมนุษย์ยังแยกกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ คนที่เข้มแข็งที่สุดในกลุ่มคือ พ่อ มีอำนาจเหนือกว่าใครๆ ทั้งหมด อันทำให้ลูกชายเกิดความรู้สึกถูกกดดัน เพราะอำนาจของพ่อ ลูกชายจึงร่วมมือกันต่อต้านและฆ่าพ่อ แต่เกิดความรู้สึกผิดบาปขึ้นภายหลัง จึงพยายามเก็บกดความปรารถนาของตนที่มีต่อแม่ พี่สาว หรือน้องสาวของตน อันเป็นต้นกำเนิดข้อห้ามรักร่วมสายเลือด (Incest) หรือการสมรสเผ่าพันธุ์เดียวกัน ฟรอยด์เชื่อว่า โทเท็ม (Totem) หรือรูปเคารพเหล่านั้น เป็นสัญลักษณ์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของพ่อที่ถูกฆ่าตายไปแล้ว หรือเป็นสัญลักษณ์บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ นัยหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันที่ลูกๆ มีต่อพ่อของเขา ขณะเดียวกันโทเท็มก็เป็นสัญลักษณ์ของความหวาดกลัวความเกลียดชังในตัวพ่อด้วยเหมือนกัน การฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เป็นสัญชาตญาณแห่งความตายของมนุษย์ ผลงานโทเท็ม แอนด์ ตาบูนี้ เป็นความพยายามของ ฟรอยด์ที่จะใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาอธิบายความเชื่อ (Belief) ของมนุษย์
ในช่วงปี ค.ศ. 1923  ฟรอยด์ได้เขียนงานชื่อ The Ego and the Id  ซึ่งมีสาระสำคัญคือ โครงสร้างจิตใจของบุคคลอันประกอบไปด้วย อีโก้, ซูเปอร์อีโก้ และ อิด ดังนี้
อิด (Id) เป็นส่วนหนึ่งของจิต ซึ่งเดิมเชื่อว่าเป็นจิตไร้สำนึกที่เต็มไปด้วยสัญชาตญาณและความต้องการ ความจำสำคัญทั้งปวงที่เก็บกักไว้ เป็นส่วนดำมืดของคน เป็นปีศาจหรือมาร
ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) หมายถึงคุณธรรม ความงาม ความดี ประเพณีและจริยธรรม เป็นศีลธรรมและความรู้สึกที่ฝังอยู่ภายใน เป็นคุณสมบัติที่เด็กๆ ได้จากพ่อแม่โดยตรงและโดยการเรียนรู้ว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่วด้วยตนเอง
อีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่สาม เป็นตัวจัดการร่วมกับอิดและยืนอยู่คนละข้างกับซูเปอร์อีโก้ เป็นตัวการของความจริงด้วยการรับรู้ คิดและจำ อีโก้จะป้องกันไม่ให้ปรารถนาที่เป็นข้อห้ามไหลบ่าท่วมท้น กับพัฒนากลไกทางจิต เช่น เก็บกด เลียนแบบ เปลี่ยนที่ ใส่โทษผู้อื่น โดดเดี่ยว ปฏิเสธไม่รับรู้และอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อีโก้ต้องเจ็บปวด เสียหน้าหรือต่ำต้อย แต่กลไกทางจิตนี้อยู่นอกเหนือจิตสำนึก เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว (กิติกร  มีทรัพย์. 2549:67-68)
แสดงว่าจิตใต้สำนึกของคนเราที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนนั้น อิด จะเป็นพลังอารมณ์ความรู้สึกที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดหรือเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณดิบของคนเรานั่นเอง เช่น รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งหากคนเรามีอิดเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ ในขณะที่ ซุปเปอร์อีโก้ จะเป็นพลังงานที่เกิดจากการเรียนรู้ค่านิยมต่างๆ เช่น ความดี ความชั่ว มโนธรรมหรือศีลธรรม ซึ่งเป็นพลังในส่วนดีของจิตมนุษย์ที่จะคอยหักล้างกับพลังอิด ทั้งนี้ในระหว่างความสุดขั้วของอิดและซุปเปอร์อีโก้นั้น จะมี อีโก้ อยู่ระหว่างกลางคอยทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้คนเราแสดงออกด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปคือ ด้านหนึ่งควบคุมอิดไม่ให้มีสัญชาตญาณดิบออกมามากเกินไป แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่ถึงขั้นทำให้คนเราแสดงออกซึ่งมโนธรรมหรืออีโก้เพียงอย่างเดียวเช่นกัน หรืออาจสรุปสั้นๆ ว่า อิด เป็นแรงขับของจิตใต้สำนึก ความคิด ร่างกาย จิตวิทยา และเพศ หรือที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาที่เราต้องการ ซูเปอร์อีโก้ เป็นตัวตรวจสอบ ตักเตือนหิริโอตตัปปะ หรือควบคุมการแสดงบุคลิกภาพทางสังคมของคนว่าสิ่งใดควรจะทำหรือสิ่งใดไม่ควรทำ หรือที่เรียกว่าเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นกฎเกณฑ์ปฏิบัติในชีวิต  อีโก้ เป็นตัวปรองดองระหว่างความต้องการของ อิด และ ซูเปอร์อีโก้  หรืออีโก้ก็คือตัวของเราที่อยู่ตรงกลางนั่นเอง
ยศ  สันตสมบัติ (2542:66-69) อธิบายว่า ตามทัศนะของฟรอยด์ ความปรารถนาที่จะใช้ความรุนแรงถูกควบคุมโดยซูเปอร์อีโก้ในระดับจิตไร้สำนึก ทุกครั้งที่ความปรารถนาที่จะใช้ความรุนแรงถูกระงับ ซูเปอร์อีโก้ของบุคคลนั้นจะเข้มแข็งขึ้นแต่บุคคลนั้นก็จะมีความรู้สึกผิด อันเป็นผลเนื่องมาจากว่าความรุนแรงถูกกักเก็บไว้ภายใน ไม่ได้รับการระบายออก เพราะซูเปอร์อีโก้ตักเตือนหากความรู้สึกผิดมีมาก จะทำให้บุคคลลงโทษตนเอง ใช้ความรุนแรงต่อตนเอง...ใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่ถูกตำหนิโดยซูเปอร์อีโก้จะไม่รู้สึกผิด แต่เขาก็ย่อมมิใช่มนุษย์ตามมาตรฐานของสังคมโดยทั่วไป... ความรู้สึกผิดเป็นรากเหง้าของอารยธรรม... สถาบันศาสนานำเอาความรู้สึกผิดมาเป็นเครื่องมือบังคับให้มนุษย์ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ สถาบันศาสนาจึงมีลักษณะเป็น ซูเปอร์อีโก้ในระดับวัฒนธรรม (Cultural Superego) หรือกลไกในการถ่ายทอดความรู้สึกผิดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
ในปี ค.ศ. 1927 ฟรอยด์ได้นำเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาประยุกต์ใช้อธิบายสังคมในงานเขียนเรื่อง The Future of an Illusion ในหนังสือเล่มนี้ ฟรอยด์ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการที่วัฒนธรรมถ่ายทอดค่านิยมและความเชื่อจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยผ่านองค์กรสังคมที่สำคัญคือ ศาสนา ซึ่งมนุษย์เรามีการตอบสนองต่อศาสนาและคำสั่งสอนทางศาสนา คล้ายๆ กับที่เรามีการสนองตอบและมีความผูกพันต่อพ่อ และศาสนาตามทัศนะของฟรอยด์ก็คือ เป็นเรื่องของอารมณ์ไม่ใช่เรื่องของเหตุผลหรือประสบการณ์  ศาสนาจึงเป็นเสมือนดั่ง ภาพลวง (Illusion) ที่สนองตอบความปรารถนาของมนุษย์   และศาสนาจะดำรงอยู่ได้ในสังคมและอารยธรรมสมัยใหม่ ก็เพราะความปรารถนาหรือความต้องการที่พึ่งพิงทางอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ มิใช่ด้วยเหตุผล หลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 1937-1938 ฟรอยด์ได้เขียนหนังสือเรื่อง Moses and Monotheism อันเป็นช่วงที่นาซีเข้ายึดครองกรุงเวียนนา ในหนังสือเล่มนี้ ฟรอยด์พยายามที่จะอธิบายสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์สองกลุ่มที่มีความคล้ายคลึงทางศาสนา หรือมีพัฒนาการทางความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกัน ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในระดับจิตใต้สำนึก ความอิจฉาริษยาและความเกลียดชัง ผลักดันให้ชาวเยอรมันกระทำความรุนแรงต่อชาวยิวในที่สุด
พัฒนาการของจิตวิเคราะห์และทฤษฎีสังคมภายหลังฟรอยด์ แบ่งออกเป็นสามแนวทางหลักคือ 1) การพัฒนาทฤษฎีสังคมบนพื้นฐานของมโนทัศน์เรื่อง ความปรารถนา (Desire) ของมนุษย์ ซึ่งเป็นการมุ่งอธิบายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมและความปรารถนา จะเห็นได้ในผลงานของกลุ่มทฤษฎีจิตวิเคราะห์มนุษยนิยม และพวกฟรอยโด-มาร์กซิสต์  2) การพัฒนาจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์โดยเน้นความสำคัญของระบบสัญลักษณ์และความหมายของสัญลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาต่อชีวิตและธรรมชาติของมนุษย์ เช่น การพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ จาค ลากอง  3) การพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เน้นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง อุดมการณ์แห่งการกดขี่ทางเพศ ซึ่งเป็นผลงานของพวกเฟมินิสต์กลุ่มต่างๆ
กลุ่มนักทฤษฎีฟรอยโด-มาร์ซิสต์ ที่สานต่อและมีแนวความคิดพื้นฐานที่คล้ายคลึงกับ ฟรอยด์อย่างน้อยสองประการคือ  ประการแรก นักทฤษฎีฟรอยโด-มาร์กซิสต์ มีแนวความคิดที่คล้อยตามฟรอยด์ ในการให้ความสำคัญกับเซ็กส์และอิทธิพลของเซ็กส์ที่มีต่อปัจเจกบุคคลและพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม และเชื่อว่าความพึงพอใจทางเซ็กส์เป็นดัชนีชี้วัดความสุขของมนุษย์ ประการที่สอง พวกเขามีแนวความคิดที่สอดคล้องต้องกันว่า การเมือง และ เซ็กส์ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ดังจะเห็นได้จากนักทฤษฎีฟรอยโด-มาร์ซิสต์ท่านหนึ่งก็คือ เฮอร์เบิร์ต มาร์คูส ที่มีความเห็นคล้อยตามฟรอยด์ว่า การกดบังคับหรือการจำกัดพฤติกรรมทางเซ็กส์ของมนุษย์เป็นเงื่อนไขพื้นฐานอารยธรรม มาร์คูสเชื่อว่า สังคมที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและมีการจัดระเบียบทางสังคมที่สลับซับซ้อน เป็นสังคมที่มีการกดบังคับ (ส่วนเกิน) ต่อมนุษย์มาก และเป็นสังคมที่มีลักษณะของการกดขี่ทางชนชั้นสูง
จาค ลากอง (Jacqus Lacan) นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ และได้พยายามที่จะตีความและนำเสนอแนวความคิดของฟรอยด์ในรูปของกรอบทฤษฎีที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยผสมผสานทฤษฎีจิตวิเคราะห์และภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง (Structural Linguistics) เข้าด้วยกัน ซึ่งลากองเชื่อว่า ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ มนุษย์มิได้เกิดและเป็นอยู่ตามสภาพที่เขาเป็นโดยธรรมชาติ หากแต่มนุษย์เป็นซับเจค (Subject) ที่ถูกสร้างขึ้นจากกฎเกณฑ์ที่มาจากภายนอกตัวเขาเอง โดยผ่าน คำพูด (Speech) ของบุคคลอื่นๆ รอบตัวเขา
ยศ  สันตสมบัติ (2542:95) ได้อธิบายถึงมโนทัศน์เรื่องซับเจคของลากองว่า ซับเจค ของลากองมิได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า เอกลักษณ์ (Identity) หากแต่บ่งบอกลักษณะของความเป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นจากการแบ่งแยก (Splitting) เอกลักษณ์ของซับเจคแต่ละคน ตามทัศนะของลากองเป็นเพียงภาพสะท้อนที่ซับเจคสร้างขึ้นจากภาพลักษณ์ (Image) ที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้แก่เขา เมื่อเด็กทารกเรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ฉัน เด็กทารกผู้นั้นกำลังเรียนรู้คำเรียกขานที่ผู้อื่นซึ่งอยู่รอบข้างรับรู้และหยิบยื่นให้ คำว่า ฉัน มิได้มีความคงที่หรือผสมกลมกลืนไปกับตัวเด็ก คำๆ นี้เป็นสิ่งที่มาจากภายนอก มิได้เกิดขึ้นภายใน การมีตัวตนของบุคคลหนึ่งถูกกำหนดโดยโลกภายนอกที่รับรู้การดำรงอยู่ของบุคคลผู้นั้น และสะท้อนภาพลักษณ์ของเขากลับไป ก่อให้เกิดการมีตัวตน เอกลักษณ์แห่งความเป็นครูของซับเจคผู้หนึ่ง เป็นเพียงภาพสะท้อนที่ซับเจคสร้างขึ้น จากภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นรับรู้และบ่งบอก การรับรู้ภาพลักษณ์และความเป็นซับเจคของมนุษย์มีภาษาเป็นสื่อกลางที่ทำหน้าที่แสดงออกและสื่อความหมาย มนุษย์จึงตกอยู่ภายใต้การครอบงำของภาษา ซึ่งสร้างเอกลักษณ์ ภาพลักษณ์ และความเป็นซับเจคให้แก่มนุษย์
นอกจากนั้น ลากองยังได้เสนอว่า การครอบงำของคำพูดหรือภาษา มีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของจิตใจและความคิดของมนุษย์ ที่ลากองใช้คำว่า ระบบสัญลักษณ์ (Symbolic System หรือ Symbolic Order) ซึ่งลากองให้ความหมายกว้างครอบคลุมไม่เพียงแต่เฉพาะภาษาหรือคำพูด แต่หากหมายรวมไปถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบกายเด็กตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงระบบวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ วิถีชีวิต ความเชื่อและความหมายของชีวิตให้กับสมาชิกสังคม ซึ่งลากองเสนอว่า ความมีตัวตน หรือ อัตตา (Selfhood) ของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางการครอบงำ การเปลี่ยนแปลงและความผันแปรในระบบสัญลักษณ์หรือวัฒนธรรม  
ยศ  สันตสมบัติ (2542:101-103) อธิบายเกี่ยวกับ ตัวตน ตามทัศนะของลากองว่า เด็กมองเห็นภาพลักษณ์ของตนเองจากการสะท้อนกลับที่เกิดจากความสัมพันธ์กับผู้อื่น การรับรู้ของเด็กต่อภาพลักษณ์นั้น ทำให้เด็กชื่นชมอยู่กับอัตตาหรือการมีตัวตนที่สมบูรณ์ อีโก้ของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากจินตนาการ ที่ปิดบังซ่อนเร้นการสูญเสีย หรือสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต อีโก้ถูกสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์การอ้างอิงและการสะท้อนกลับของผู้อื่น โครงสร้างของอีโก้จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการครอบงำและจินตนาการ เป็นความแปลกแยกที่เกิดขึ้นครั้งแรกในชีวิต... เมื่อเด็กก้าวย่างเข้าสู่โลกแห่งสังคม กระบวนการแปลกแยกครั้งที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ภาษา การพูด การสื่อสาร การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาษา และการจัดระเบียบของระบบสัญลักษณ์ทำให้มนุษย์ผู้เป็นซับเจคจำต้องเปลี่ยนฐานะจากสภาพของการหลงตนเอง หรืออัตตาที่สมบูรณ์ในโลกแห่งจินตนาการของเด็ก (Imaginary Order) ไปสู่ฐานะทางสังคมที่ถูกกำหนดโดยระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Order) ที่มาครอบงำจากภายนอก ... การรับรู้ของมนุษย์ถูกกำหนดด้วยการแบ่งแยก ฉัน เธอ และ เขา และจากการแบ่งแยกนี้เองที่มนุษย์เรียนรู้ รับรู้ และบ่งบอกความหมายของอัตตา (Self) ต่อผู้อื่น

 
จึงอาจกล่าวได้ว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นยอดอัจฉริยะและได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยา ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีสังคมอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะมโนทัศน์เรื่อง การเรียนรู้ทางสังคม (Socialization) ความรู้สึกผิด (Guilt) วัฒนธรรมหรืออารยธรรม (Civilization) และซูเปอร์อีโก้ (Superego) รวมทั้งยังสามารถนำเอาทฤษฎีดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจกับระบบศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ ค่านิยม และระบบสัญลักษณ์ได้อีกด้วย แม้ในบางครั้งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อาจไม่ได้รับความยอมรับจากนักวิชาการบ้าง แต่อย่างน้อยทฤษฎีสังคมของเขาก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และตีความในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้ทฤษฎีของฟรอยด์เป็นแนวทางการศึกษาในแง่มุมที่แปลกใหม่และน่าสนใจอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
 
บรรณานุกรม
กิติกร  มีทรัพย์. (2549).  ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการทำงานและฟรอยด์บำบัด. กรุงเทพฯ: มติชน.
ยศ  สันตสมบัติ. (2542). ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

(002) แนวคิดของคาร์ล มาร์กซ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
สงวนลิขสิทธิ์ ยกเว้นอ้างอิงตามหลักวิชาการ
25 กันยายน 2555


คาร์ล ไฮน์ริช มาร์กซ (Karl Heinrich Marx) เป็นชาวเยอรมันมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1818 - 1883 มาร์กซเป็นนักคิดที่มีอิทธิพลอย่างสูง เขาเป็นทั้งนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักปฏิวัติ รวมทั้งยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มกรรมกรนานาชาติ (International Workingmen's Association) อีกด้วย แม้ว่าบทบาทของมาร์กซ จะได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ ในฐานะของนักข่าวและนักปรัชญา แต่ผลงานหลักที่สำคัญของเขาก็คือ บทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่มองผ่านทางการปะทะกันระหว่างชนชั้น ดังคำนำในหนังสือแถลงการณ์ของชาวคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ว่า: "ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาล้วนแต่ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น" (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ออนไลน์) ต่อมางานเขียนของเขา กลายเป็นแกนหลักของการเคลื่อนไหวในแนวทางลัทธิต่างๆ ได้แก่ ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิเลนิน และลัทธิมาร์กซ รวมทั้งได้ส่งอิทธิพลมาสู่นักคิดของไทยบางส่วนด้วย

  
คาร์ล ไฮน์ริช มาร์กซ (Karl Heinrich Marx) (ค.ศ. 1818 1883)

 

คาร์ล มาร์กซ  เกิดในครอบครัวชาวยิวหัวก้าวหน้าในเมืองเทรียร์ (Trier)  แคว้นปรัสเซีย ประเทศเยอรมนี มาร์กซได้รับอิทธิพลทางความคิดเบื้องต้นจากบิดาของเขาคือ ไฮน์ริค มาร์กซ (Heinrich Marx) ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่นิยมในปรัชญาของวอลแตร์และรุสโซ ในวัยเด็ก มาร์กซเข้าเรียนที่โรงเรียนระดับมัธยมปลายในเมืองเทรียร์บ้านเกิด และได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับมัธยมปลายที่มีชื่อว่า "ศาสนา : กาวที่เชื่อมสังคมเข้าด้วยกัน" และงานชิ้นแรกนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นให้กับงานวิเคราะห์ศาสนาของเขาในเวลาต่อมา มาร์กซเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงบอนน์ในปี ค.ศ. 1835  ในช่วงเวลานี้ มาร์กซมีความสนใจในด้านโคลงกลอนเป็นพิเศษ และมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นกวีที่มีชื่อเสียง ต่อมาเขาจึงย้ายไปศึกษาวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮล์ม (Friedrich-Wilhelms Universität) ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเบอร์ลิน ในระหว่างปี ค.ศ. 1837-1841

ที่เบอร์ลิน มาร์กซเริ่มหันไปสนใจปรัชญาหลังจากได้รับอิทธิพลแนวคิดของ เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) เขาจึงได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนิยมเฮเกลรุ่นใหม่ (Young Hegelians) ซึ่งถือเป็นกลุ่มนิยมลัทธิเฮเกลฝ่ายซ้าย โดยการนำของ บรูโน บาวเออร์ (Bruno Bauer) อาจารย์สอนปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ปรัชญาของเฮเกล คือ ลัทธิจิตนิยม (idealist)  ซึ่งเฮเกลเชื่อว่า สิ่งที่เป็นความจริงจะต้องมีลักษณะสมบูรณ์ทั่วด้าน ที่เรียกว่า จิตสัมบูรณ์ เป็นตัวตนสมบูรณ์ ครอบงำสรรพสิ่ง และเป็นสิ่งตรงข้ามกับโลกความเป็นจริงที่มนุษย์เห็นอยู่โดยทั่วไป เฮเกลอธิบายความจริงสูงสุดของโลกว่า คือ หลักเหตุผล (rational) มนุษย์จะเข้าถึงความจริงได้ก็ด้วยความเข้าใจในหลักเหตุผล หรือใช้กระบวนการทางตรรกวิทยา

อย่างไรก็ตามจุดเด่นในปรัชญาของเฮเกล คือ ทัศนะแบบวิภาษวิธี (dialectic) ที่อธิบายว่า จิตหรือตัวตนสมบูรณ์นี้แสดงออกในรูปของความขัดแย้ง 2 ด้าน คือ ด้านสนับสนุน และด้านปฏิเสธ ด้านหนึ่งเป็นบทเสนอ (thesis) ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นบทแย้ง (antithesis) และวิวัฒนาการการต่อสู้ระหว่าง 2 ด้านที่ขัดแย้งนี้เอง จะนำมาสู่การพัฒนาของสิ่งใหม่ที่จะเรียกว่า บทสรุป (synthesis) และบทสรุปนี้ก็จะกลายเป็นบทเสนอใหม่ ก่อให้เกิดบทแย้งใหม่ และนำมาสู่บทสรุป ใหม่ ไปจนสิ้นสุดกระบวนการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความเป็นจิตสมบูรณ์อันแท้จริง (BioLawCom. ออนไลน์)

จากแนวปรัชญาดังกล่าว แม้จะมีผู้สนใจศึกษาตามมามากมาย แต่ก็ยังมีข้อขัดแย้งทางความคิดปรากฏให้เห็นดังเช่น กลุ่มเฮเกลฝ่ายขวา เชื่อว่าลำดับการวิภาษทางประวัติศาสตร์นั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เพราะสังคมปรัสเซียที่ถึงพร้อมด้วยการบริการพลเมือง มีมหาวิทยาลัยที่ดี การพัฒนาทางอุตสาหกรรม และอัตราการจ้างงานที่สูง จึงเป็นผลสรุปของการพัฒนาการทางสังคมดังกล่าว นอกจากนั้น กลุ่มเฮเกลฝ่ายขวา ยังได้วิเคราะห์ศาสนา และยอมรับว่า ศาสนา เป็นสัจธรรมที่เป็นเหตุผล และพระเจ้าคือ พัฒนาการของเหตุผลสมบูรณ์ แต่กลุ่มนิยมเฮเกลฝ่ายซ้ายที่มาร์กซสังกัดอยู่กลับเชื่อว่า ยังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบวิภาษอีก และสังคมปรัสเซียในขณะนั้นยังมีความไม่สมบูรณ์อีกมาก ทั้งนี้เนื่องจากสังคมยังมีความยากจน รัฐบาลยังคงใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มแข็ง และยังเชื่ออีกว่า สาระของศาสนา คือ ความจริงที่บิดเบี้ยว การพัฒนาของศาสนา จึงมาจากด้านที่ไม่สมเหตุผล และคำสอนของศาสนา คือ มายาคติ (myth) ที่ถูกสร้างขึ้น ส่วนมาร์กซเองเชื่อว่า หลักการวิภาษวิธีนั้น สามารถนำมาใช้กับปรัชญาวัตถุนิยม เพื่ออธิบายสังคมและการเปลี่ยนแปลงสังคมได้เป็นอย่างดี (ยศ  สันตสมบัติ. 2538 : 6) ปรัชญาของมาร์กซจึงได้รับการขนานนามในเวลาต่อมาว่า วัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical materialism)

ตั้งแต่ ค.ศ. 1839 มาร์กซตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก เพื่อจะได้เข้าเป็นอาจารย์สอนปรัชญาในมหาวิทยาลัย เขาทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "ความแตกต่างระหว่างปรัชญาธรรมชาติของเดโมคริตัสกับปรัชญาธรรมชาติของเอพิคิวรัส ซึ่งเป็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างนักปรัชญากรีก 2 คน ที่มีแนวคิดในเชิงวัตถุนิยม (materialism) ผลของการศึกษา มาร์กซชี้ให้เห็นว่า ความคิดของเดโมเครตัสเป็นแบบกลไกที่เห็นว่า สรรพสิ่งดำเนินไปภายใต้กฎเกณฑ์ทางวัตถุ แต่กลับคิดว่า ความรู้ที่ถูกต้องมาจากการคิด ซึ่งเท่ากับเป็นการตั้งข้อสงสัยต่อโลกของผัสสะ ขณะที่เอพิคิวรัสยอมรับโลกของผัสสะว่า เป็นความจริงแท้ แต่พยายามรักษาเจตจำนงอิสระของมนุษย์ และจุดมุ่งหมายไปสู่ความสุข ซึ่งเป็นการปฏิเสธการกำหนดโดยโลกของวัตถุ มาร์กซเห็นว่า ปรัชญาของเอพีคิวรัส มีข้อเด่นตรงที่ยอมรับในจิตเสรีของมนุษย์เหนือข้อกำหนดทางวัตถุ

แม้วิทยานิพนธ์ของมาร์กซจะดีมาก แต่สุดท้ายมหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮล์มก็ไม่ยอมให้มาร์กซส่งวิทยานิพนธ์ดังกล่าว เพราะถูกคาดหมายว่า งานของเขาอาจไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากขณะนั้น มาร์กซได้ชื่อว่า เป็นนักคิดแนวถอนรากถอนโคนในกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ มาร์กซจึงส่งวิทยานิพนธ์นั้นไปยังมหาวิทยาลัยเจนาแทน มหาวิทยาลัยเจนาจึงกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มาร์กซจบการศึกษา และได้รับปริญญาเอกสาขาปรัชญา ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1841 แต่ภายหลังก็ไม่ได้เป็นอาจารย์สอนปรัชญาดังที่ตั้งใจไว้ เนื่องจากบาวเออร์ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขาถูกขับออกจากภาควิชาปรัชญาในปี ค.ศ. 1842 มาร์กซจึงเลิกสนใจปรัชญาและหันไปเป็นนักข่าว โดยทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าของเมืองโคโลญน์ และกลายเป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติที่รณรงค์ในเรื่องประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์ภายใต้การบริหารของมาร์กซ เคยถูกโจมตีจากหนังสือพิมพ์ออกสเบิร์กคู่แข่ง โดยมุ่งหวังเร่งเร้าให้รัฐบาลปิดหนังสือพิมพ์ของเขาในข้อหาเผยแพร่เอกสารคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการลงข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มสังคมนิยมของฟูริเอร์ ซึ่งเปิดประชุมที่เมืองสตาร์บูร์กในขณะนั้น และในที่สุดหนังสือพิมพ์ภายใต้การบริหารของมาร์กซก็ถูกสั่งปิดลงในปี ค.ศ. 1843 เขาจึงกลับไปสนใจปรัชญาอีกครั้ง และหันไปเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองพร้อมกับทำงานเป็นนักข่าวอิสระ ต่อมาไม่นาน มาร์กซก็ต้องเดินทางลี้ภัย อันเนื่องมาจากการแสดงความเห็นแบบถอนรากถอนโคนของเขานั่นเอง

มาร์กซเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส และได้เขียนบทความ ปัญหาชาวยิว (On the Jewish Question) ซึ่งเป็นบทวิพากษ์แนวคิดปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและการปลดปล่อยทางการเมือง ที่ปารีสเขาได้พบกับเฟรดเดอริก เองเกลส์ (Frederick Engels) ที่เดินทางมายังปารีส ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.1844 และต่อมา ทั้งคู่ได้กลายเป็นเพื่อนร่วมงานกันตลอดชีวิตของพวกเขา เองเกลส์ได้กระตุ้นให้มาร์กซสนใจสถานการณ์ของชนชั้นทำงาน และช่วยแนะนำให้มาร์กซสนใจเศรษฐศาสตร์ เมื่อเขาและเองเกลส์ถูกภัยการเมืองคุกคามอีกครั้งในปี ค.ศ. 1845 อันเนื่องมาจากงานเขียน พวกเขาจึงย้ายไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และได้ร่วมกันเขียนบทความชื่อ อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology) ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาของเฮเกล และกลุ่มนิยมเฮเกลรุ่นใหม่ บทความนี้ ถือเป็นงานชิ้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานความคิด วัตถุนิยมวิภาษวิธี และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ของมาร์กซและเองเกลส์ เพื่อเสนอข้อถกเถียงและเป็นการทบทวนรากฐานทางปรัชญาของเยอรมัน โดยมีการเชื่อมโยงปรัชญาวัตถุนิยมมาอธิบายวิวัฒนาการทางสังคม การปฏิวัติทางสังคมของชนชั้นกรรมาชีพ และการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ ถือเป็นแนวความคิดที่สามารถ พิสูจน์ทดลอง ได้จากความเป็นจริงทางสังคม และได้นำไปสู่แนวคิดทางปรัชญาลัทธิมาร์กซ (Marxism) ในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น มาร์กซได้เขียน ความอับจนของปรัชญา (The Poverty of Philosophy) ซึ่งวิพากษ์ความคิดสังคมนิยมสายฝรั่งเศส บทความทั้งสองวางรากฐานให้กับ คำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) อันเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของมาร์กซและเองเกลส์ หนังสือ คำประกาศเจตนา เป็นผลงานที่สมาพันธ์คอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อพยพชาวเยอรมันได้ร้องขอให้เขาเขียน และได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 ขณะเดียวกันยุโรปในช่วงเวลานั้น ได้เกิดการลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ กลุ่มคนงานได้เข้ายึดอำนาจจากกษัตริย์หลุยส์ ฟิลิปป์ ในฝรั่งเศส และได้เชิญมาร์กซกลับไปยังปารีส มาร์กซพยายามนำเสนองานสนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพี เพื่อโค่นล้มระบอบกษัตริย์ มากกว่าสนับสนุนให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นปฏิวัติเอง เขาจึงเริ่มถูกโจมตีจากกลุ่มปีกซ้ายที่นำโดย อันดรีส กอตต์ชอลก์ ที่กล่าวหาว่า เขาประนีประนอมกับชนชั้นนายทุนมากเกินไป และไม่ได้ต่อสู้เพื่อกรรมาชีพอย่างแท้จริง หากแต่การต่อสู้ของมาร์กซจะทำให้กรรมาชีพต้องหลั่งเลือดเพื่อชนชั้นกระฎุมพี นอกจากนั้นยังมี โจเซฟ มอลล์ และ คาร์ล แชปเปอร์ ก็มีความเห็นเช่นเดียวกับกอตต์ชอลก์ด้วย

 หลังจากที่รัฐบาลคนงานล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1849 มาร์กซได้ย้ายกลับไปยังโคโลญน์ และได้เริ่มทำหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ขึ้นมาใหม่ก่อนจะถูกสั่งปิดลงอีกครั้ง สุดท้ายเขาจึงย้ายไปยังลอนดอน ในปี ค.ศ. 1852 มาร์กซได้เขียนแผ่นพับ การปฏิวัติของหลุยส์โบนาปาร์ต (The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte) โดยวิเคราะห์เหตุการณ์ที่นโปเลียนเข้ายึดประเทศฝรั่งเศส จากปี ค.ศ. 1852 ถึง 1861 ขณะที่อยู่ลอนดอน เขาทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวฝั่งยุโรปให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กทรีบูน (New York Tribune)

ในปีค.ศ. 1864 มาร์กซได้ก่อตั้งกลุ่มกรรมกรนานาชาติที่ต่อมาถูกเรียกว่า แนวร่วมระหว่างประเทศที่หนึ่ง เพื่อเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมทางการเมือง ในคำสุนทรพจน์เปิดงานนั้น มาร์กซได้อ้างถึงคำพูดของแกลดสโตน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษที่ได้กล่าวสุนทรพจน์แก่สภาผู้แทนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863 ไปในทำนองที่ว่า "การเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยและอำนาจอย่างเมามายนี้ เกิดขึ้นกับเฉพาะชนชั้นที่มีทรัพย์สินเท่านั้น" เขายังอ้างถึงคำพูดนี้อีกในหนังสือ เกี่ยวกับทุน (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ออนไลน์) ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มาร์กซได้ทุ่มเทเวลาไปกับการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์และเชิงทฤษฎี สำหรับการเขียนหนังสือ Das Kapital หรือ ทุน: บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง มาร์กซตีพิมพ์เล่มแรกของชุดในปี ค.ศ. 1867 สำหรับอีกสองเล่มที่เหลือนั้น เองเกลส์ได้เรียบเรียงจากบันทึกและร่างต่างๆ ของมาร์กซ และตีพิมพ์หลังจากที่มาร์กซเสียชีวิตแล้ว หนังสือ ว่าด้วยทุน ของมาร์กซ์ถือเป็นผลึกมันสมองทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ยิ่งใหญ่เป็นอมตะไปอีกนานเท่านาน เป็นวิชาเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยทุนนิยม ที่ละเอียดและลึกซึ้งหาที่สุดมิได้

ในหนังสือ Das Kapital เล่มที่ 1 นั้น (คาร์ลมาร์กซ์ และเมธี เอี่ยมวรา. 2542:231-232) สรุปได้ว่า  คาร์ลมาร์กซ์ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความละโมบต่อแรงงานส่วนเกินของเจ้าของโรงงานและเจ้าศักดินาว่า กรรมกรในแต่ละ 1 นาทีได้ทำงานแก่ตน 30 วินาทีได้ทำงานให้แก่นายทุน 30 วินาทีเป็นอาทิ แต่แรงงานเกณฑ์มิได้เป็นเช่นนี้ ดังเช่นเวลาแรงงานที่ชาวนาใน Wallachian จะต้องทำให้สำเร็จเสร็จสิ้น เพื่อรักษาชีวิตของตัวของเขาเองให้อยู่รอดกับแรงงานส่วนเกินที่เขาทำให้แก่เจ้าศักดินา จะแยกออกจากกันในทางเทศะ เขาได้ใช้แรงงานที่จำเป็นทำงานให้สำเร็จเสร็จสิ้นในที่ดินของตัวเอง ได้ใช้แรงงานส่วนเกินทำงานให้เสร็จสิ้นในที่ดินของเจ้าศักดินา ดังนั้น เวลาแรงงานทั้ง 2 ส่วนนี้ ต่างก็เป็นอิสระต่อกัน ในรูปแบบแรงงานเกณฑ์นั้น แรงงานส่วนเกินและแรงงานจำเป็นจะแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ข้อแตกต่างในรูปแบบที่แสดงออกดังกล่าวนี้ เป็นที่กระจ่างชัดว่า จักไม่เปลี่ยนแปลงอัตราสัดส่วนเปรียบเทียบทางปริมาณระหว่างแรงงานส่วนเกินและแรงงานที่จำเป็นแต่ประการใด แรงงานส่วนเกิน 3 วันในแต่ละสัปดาห์ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นแรงงานเกณฑ์หรือจะเรียกว่าเป็นแรงงานว่าจ้างก็ตาม ต่างก็เป็นแรงงาน 3 วันที่ไม่มีค่าตอบแทนของผู้ใช้แรงงานเอง เพียงแต่ว่าความโลภของนายทุนต่อแรงงานส่วนเกิน จักแสดงออกเป็นความกระหายที่ใคร่จะยืดขยายวันการทำงานให้ยาวออกไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด แต่ความละโมบของเจ้าศักดินาจักแสดงออกค่อนข้างจะง่ายๆ มุ่งที่จะแสวงหาจำนวนวันการเกณฑ์ใช้แรงงานโดยตรงเท่านั้น

ประมวลกฎหมายการเกณฑ์แรงงานตามที่เรียกกันว่า ข้อบังคับขององค์กร ชาวนาแต่ละคนใน Wallachian นอกจากจะต้องมอบส่วยบรรณาการที่เป็นสิ่งของในปริมาณจำนวนมาก ที่ได้กำหนดอย่างละเอียดแล้ว ยังจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ผู้เรียกว่าเจ้าของที่ดินดังนี้ 1) วันการทำงานโดยทั่วไป 12 วัน  2) วันการทำงานในนา 1 วัน  3) วันการทำงานที่ขนย้ายไม้ 1 วัน ปีหนึ่งรวม 14 วัน ... นอกจากนั้นยังจะต้องบวกที่เรียกว่า “Jobagie” เข้าไปอีกด้วย นั่นก็คือ แรงงานบังคับ (หรือแรงงานเกณฑ์) ที่จะต้องบริการในขณะที่เจ้าของที่ดินมีความต้องการเป็นกรณีพิเศษ (คาร์ล มาร์กซ์ และเมธี เอี่ยมวรา. 2542:233)

ในหนังสือ Das Kapital เล่มที่  2 นั้น  เมธี เอี่ยมวรา ได้แสดงทัศนะว่า ใน ว่าด้วยทุน นี้ มาร์กซ์ได้สาธกกฎเกณฑ์ของระบบทุนนิยมไว้มากมาย มีประเด็นที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้

1. การหมุนเวียน (circulating) ของทุนเป็นหัวใจสำคัญของทุนนิยม ถ้าหากทุนไม่หมุนเวียนเกิดการชะงักงัน ทุนนิยมก็จะเกิดการซบเซา หรืออาจถึงกับเกิดวิกฤตการณ์ได้ ทั้งนี้ก็เพราะในระบบทุนนิยม ก่อนอื่นจะต้องมีทุนเงินตราก่อน ครั้นแล้ว ทุนเงินตรานี้จะเปลี่ยนพลิกเป็นทุนการผลิต ทุนการผลิตนี้ก็จะเปลี่ยนพลิกเป็นทุนสินค้า ครั้นแล้วทุนสินค้านี้ก็จะเปลี่ยนเป็นทุนเงินตราอีก ซึ่งการหมุนเวียนดังกล่าวนี้ ก็จะมีบทบาทก่อให้เกิดการเพิ่มงอก (valorization) ของทุนขึ้น

2. หลักเศรษฐศาสตร์ของระบบทุนนิยมอีกอย่างหนึ่งก็คือ มูลค่า และมูลค่าในการใช้สอย สินค้าอย่างหนึ่งนี้จะมีทั้งมูลค่าและมูลค่าใช้สอย ถ้ามูลค่าของสินค้านั้นๆ ไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่มีมูลค่าในการใช้สอย หรือมีมูลค่าในการใช้สอยไม่สมมูลค่าแล้ว สินค้านั้นๆ ก็จะขายไม่ได้ เมื่อสินค้าขายไม่ได้แล้ว ก็จะต้องเกิดเศรษฐกิจวิกฤต

3. การหมุนรอบ (turnover) ของทุนก็เป็นหัวใจสำคัญของระบบทุนนิยม การลงทุนใดๆ ถ้าทุนที่ลงไปนั้นไม่หมุนกลับก็จะต้องเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

การหมุนเวียนของทุน หรือการไม่หมุนเวียนของทุนในระบบของทุนนิยมย่อมทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูหรือฟุบได้ มูลค่าและมูลค่าในการใช้สอยของสินค้าเมื่อเกิดขัดแย้งกันย่อมทำให้เศรษฐกิจเกิดวิกฤตได้ การหมุนรอบของทุนช้าย่อมทำให้กิจการค้าของผู้ดำเนินกิจการไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้าทุนไม่หมุนกลับย่อมทำให้กิจการของผู้ลงทุนเกิดวิกฤต ถ้าทุนหมุนรอบเร็วย่อมทำให้กิจการของผู้ลงทุนเจริญเฟื่องฟู (คาร์ล มาร์กซ์ และเมธี เอี่ยมวรา. 2543:ไม่ปรากฏเลขหน้า)

ในหนังสือ Das Kapital เล่มที่ 3 มาร์กซและเองเกลส์ได้ดำเนินการสำรวจว่าด้วย อัตราแห่งผลกำไร คือ ปัญหาที่ถือกันว่าเป็นข้อวิเคราะห์สำคัญที่สุดในคติเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งแตกต่างจากการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ เพราะเป็นการวิเคราะห์แจกแจงเกี่ยวกับค่าเช่า ดอกเบี้ย และระบบสินเชื่อ นอกจากนั้นมาร์กซยังได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีวิกฤตกาลทางเศรษฐกิจ ซึ่งเขาได้กล่าวถึงอย่างประปรายในหนังสือเล่มที่ 1 และ 2 อย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม

กล่าวโดยรวมหนังสือชุดนี้ กลายเป็นคัมภีร์เศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างแท้จริง   และในหนังสือ ว่าด้วยทุน นี้ แสดงให้เห็นว่า มาร์กซ์ได้ค้นพบแหล่งขุมทรัพย์แห่งความมั่งคั่งของสังคมที่ได้มาจากแรงงานส่วนเกินหรือมูลค่าส่วนเกิน การขูดรีดแรงงานเป็นแหล่งขุมทรัพย์ ที่ทำให้นายทุนเกิดความร่ำรวย มาร์กซสังเกตว่า ในทุกๆอุตสาหกรรมที่ประสบผลสำเร็จ ค่าจ้างแรงงานจะมีราคาต่ำกว่าราคาของสินค้าที่ผลิตได้ มาร์กซเรียกความแตกต่างนี้ว่า "มูลค่าส่วนเกิน" และอธิบายว่า กำไรของนายทุนนั้น เกิดจากมูลค่าส่วนเกินนี่เอง อีกทั้งในหนังสือชุดนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า มาร์กซจงใจที่จะพิสูจน์อะไร ทำไมวงการศึกษาทั่วโลกจึงยกย่องว่าเป็น หลัก ของระบบเศรษฐกิจสังคมที่เรียกว่า ระบบมาร์กซิสม์

สุภา ศิริมานนท์ กล่าวสรุปว่า มาร์กซมีความจงใจที่จะพิสูจน์ประเด็นต่างๆ รวม 4 ประการคือ

1. มาร์กซต้องการที่จะสำแดงให้เห็นประจักษ์ว่า ระบบทุนนิยมนั้น จะต้องทำลายตัวของมันเอง พลังในการทำลายตนเองดังกล่าวนี้ จะเอากำเนิดขึ้นมาจากภายในตัวระบบทุนนิยมนั้นเอง และพลังทำลายนี้ จะดำเนินงานของมันผ่านออกมาทางชนชั้นกรรมาชีพ อันเป็นชนชั้นที่มิได้เป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต

2. มาร์กซต้องการที่จะพิสูจน์ว่า มรณกรรมหรือความพินาศของระบบทุนนิยมนั้น เป็นสิ่งซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้อย่างเด็ดขาด

3. มาร์กซต้องการที่จะพิสูจน์ว่า สถาบันต่างๆ ของเศรษฐกิจ ล้วนแต่เป็นผลอันเนื่องมาจากความขัดแย้งขั้นรากฐานทางเศรษฐกิจระหว่างพลังสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายหนึ่งได้แก่ แบบแผนของการเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตอันล้าหลัง และองค์การจัดตั้งทางสังคมอันล้าหลัง อีกฝ่ายหนึ่งได้แก่ พัฒนาการของเทคนิคในการผลิต และพัฒนาการของเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต ซึ่งนับวันก็มีแต่จะคลี่คลายก้าวหน้าเรื่อยไปอย่างไม่มียับยั้ง

4. มาร์กซมีความจงใจที่จะพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่า ปัจเจกชนแต่ละคนนั้น ตามความเป็นจริงที่แท้แล้วก็ถูกถือว่า หรือก็ได้รับการปฏิบัติต่อในฐานะที่ปัจเจกชนนั้นๆ เป็น ตัวแทน คนหนึ่งแห่งชนชั้นทางเศรษฐกิจที่เขาสังกัดอยู่เท่านั้นเองเป็นสำคัญ (สุภา ศิริมานนท์. 2530:26-27)

มาร์กซมองสังคมแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ 1) โครงสร้างส่วนล่าง หรือระบบเศรษฐกิจอันประกอบไปด้วยวิธีการผลิต และ 2) โครงสร้างส่วนบน อันประกอบไปด้วยการเมือง การปกครอง ระบบความคิด ความเชื่อ และค่านิยมทางสังคมต่างๆ  มาร์กซเชื่อว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ถูกกำหนดโดยวิธีการผลิต จะเป็นสิ่งก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางชนชั้น และประวัติศาสตร์คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ที่มีสาเหตุมาจากความแปลกแยกและสำนึกทางชนชั้นที่เกิดขึ้นเพราะ (1) คุณค่าของมนุษย์ถูกลดลงเป็นเพียงสินค้า เพื่อผลกำไรของนายทุน (2) การแบ่งแยกงาน ทำให้ผู้ผลิตถูกลดค่าลงเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ของเครื่องจักร ความพึงพอใจในงานที่ตนทำถูกทำลายลง และ (3) ค่าจ้างที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานได้รับเป็นเพียงส่วนแบ่งเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรที่นายทุนได้รับ จะเห็นได้ว่ามีคุณค่าส่วนเกิน (surplus value) หลงเหลืออยู่มาก ชนชั้นผู้ใช้แรงงานต้องทำงานอย่างหนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนพอใช้ประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น (ยศ สันตสมบัติ. 2538: 7-8)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดและทฤษฎีที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนของมาร์กซและเองเกลส์ม มักมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองแอบแฝงอยู่ด้วย นอกจากจะนำเอาหลักปรัชญาของเฮเกล ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน และหลักเศรษฐศาสตร์ของริคาร์โด เขายังนำเอาแนวความคิดมาจากนักมานุษยวิทยาอีกหลายๆ ท่าน เช่น มอร์แกน เพื่อมาใช้เป็นผลประโยชน์ทางการเมือง

สำหรับมาร์กซ ทฤษฎีวิวัฒนาการช่วยให้มนุษย์ละทิ้งความเชื่ออันงมงาย อันเกิดจากการครอบงำของชนชั้นปกครอง และสถาบันศาสนาที่เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง มาร์กซเชื่อว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีการเลือกสรรตามธรรมชาติ (natural selection)  เป็นการอธิบายมนุษย์ตามแนววัตถุนิยม และท่านได้พยายามที่จะค้นหาทฤษฎีวิวัฒนาการที่คล้ายคลึงกับทฤษฎีของดาร์วิน เพื่อมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ โดยเน้นที่การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจหรือวิธีการผลิต (ยศ สันตสมบัติ. 2538: 14)

ส่วนทฤษฎีทางด้านมานุษยวิทยา ที่มาร์กซและเองเกลส์นำไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น พวกเขาให้ความสนใจหลักฐานทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของมอร์แกน เพื่อนำไปอธิบายประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของสังคมก่อนระบบทุนนิยม ข้อมูลทางมานุษยวิทยาถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการสร้างทฤษฎีสากล เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ และการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยม การศึกษาเปรียบเทียบขั้นตอนของวิวัฒนาการสังคมที่มอร์แกนทำนั้น มอร์แกนมิได้เพียงจัดแบ่งขั้นตอนของวิวัฒนาการออกจากกันเท่านั้น แต่ยังพยายามค้นหา กลไก ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกด้วย และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการผลิตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ค่อยๆ สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากแนวคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่พื้นฐานที่สำคัญของการอธิบายระบบทุนนิยมของมาร์กซและเองเกลส์ในเวลาต่อมา

มาร์กซและเองเกลส์ศึกษาระบบครอบครัวและระบบเครือญาติในสังคมทุนนิยมว่า มีความแตกต่างจากระบบสังคมแบบดั้งเดิมของมอร์แกน ที่ความสัมพันธ์ทางการผลิตจะเป็นไปในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ส่วนครอบครัวและระบบเครือญาติในสังคมทุนนิยมถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม ที่มีลักษณะของการแข่งขัน และการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ การที่นายทุนสามารถเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานได้นั้น เป็นเพราะนายทุนสามารถผูกขาดเครื่องมือในการผลิตที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพวกนายทุน นอกจากนั้น มาร์กซยังนำเอาแนวความคิดทฤษฎีเกี่ยวกับระบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิมของมอร์แกนมาใช้ ระบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิมเป็นระบบที่ทรัพย์สินเป็นของส่วนรวม แนวความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวยังไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น แนวความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยม จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการกดขี่ (exploitation)

จะเห็นได้ว่า มาร์กซและเองเกลส์พยายามนำเอาข้อมูลและแนวความคิดของนักมานุษยวิทยาร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมอร์แกน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของพวกเขา เพื่อแสดงให้เห็นว่า สังคมต่างๆ ที่อยู่ในระดับขั้นตอนการวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน เช่น สังคมดั้งเดิม สังคมศักดินา สังคมทาส และสังคมทุนนิยม จะมีรูปแบบการทำงาน และกฎเกณฑ์ทางสังคมที่แตกต่างกันออกไป และสังคมดั้งเดิมไม่มีชนชั้น แต่สังคมทุนนิยมในความหมายของมาร์กซ เป็นสังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นและการเอารัดเอาเปรียบ แนวคิดเรื่อง ชนชั้น จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของลัทธิมาร์กซิสม์

อย่างไรก็ตาม จากแนวความคิดทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางสังคมของมาร์กซและเองเกลส์เอง กลับทำให้พวกมาร์กซิสต์รุ่นต่อๆ มา ไม่สามารถนำเอาทฤษฎีดังกล่าว ไปใช้อธิบายสังคมแบบดั้งเดิมได้ เนื่องจากสังคมดั้งเดิมนั้น ไม่มีการแบ่งชนชั้น จึงทำให้พวกมาร์กซิสต์รุ่นต่อๆ มา หันไปหาคำอธิบายสังคมดั้งเดิมในลักษณะอื่นๆ แทน  จากข้อผิดพลาดดังกล่าว ยศ สันตสมบัติ (2538: 29-30) แสดงทัศนะว่า ประวัติศาสตร์ของมานุษยวิทยามาร์กซิสต์ จึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งความล้มเหลว การนำเอาทฤษฎีของมาร์กซไปประยุกต์กับแนวความคิดของนักมานุษยวิทยารุ่นเก่า เพื่อใช้อธิบายรูปแบบและการทำงานของสังคมดั้งเดิม ก่อให้เกิดความสับสนต่อทฤษฎีมาร์กซิสม์ และก่อให้เกิดภาพสังคมดั้งเดิมที่ปราศจากชนชั้นอันเป็นภาพลวงที่ไร้สาระ และห่างไกลจากความเป็นจริงมากที่สุด

บรรณานุกรม


คาร์ล มาร์กซ์. (2542). Das Kapital ว่าด้วยทุน เศรษฐศาสตร์การเมืองวิพากษ์ เล่ม 1.แปลโดย เมธี เอี่ยมวรา. กรุงเทพฯ : อักษรพิทยา.

คาร์ล มาร์กซ์. (2543). Das Kapital ว่าด้วยทุน เศรษฐศาสตร์การเมืองวิพากษ์ เล่ม 2 .แปลโดย เมธี เอี่ยมวรา. กรุงเทพฯ : อักษรพิทยา.

ชลชินี และ ทัณฑิกา. (2549). คาร์ล มาร์กซ. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2551 จาก http://my.dek-d.com/phatty/story/viewlongc.php?id=129981&chapter=18

ยศ  สันตสมบัติ. (2538). จากวานรถึงเทวดา : มากซิสม์และมานุษยวิทยามากซิสต์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คาร์ล มาร์กซ. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2551 จาก http://th.wikipedia. org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A5_%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%8B

สุภา  ศิริมานนท์. (2530). มาร์กซจงใจพิสูจน์อะไรอย่างไร? : คำบรรยายว่าด้วยโลกทรรศน์ของมาร์กซในทางเศรษฐกิจการเมือง. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์.

Biolawcom. คาร์ล มาร์กซ. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2551 จาก http://biolawcom. de/?/article/153