หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

(006) วัฒนธรรมสัญจร "เมียนมาร์ดินแดนพระพุทธศาสนา" ต้นปี 2552


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล



1. บทนำ 
    "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"

ท่านทั้งหลาย ท่านคงทราบกันแล้วว่า ในอดีตเมื่อครั้งสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนา เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในประเทศอินเดีย และในเวลาต่อมา ก็ได้แผ่ขยายมาสู่ประเทศไทย และอีกหลายๆประเทศในแถบเอเชีย จนในที่สุดพระพุทธศาสนา ก็เสื่อมความนิยมลงไปตามลำดับ แม้แต่ในอินเดีย อันเป็นดินแดนต้นกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนา ก็เสื่อมลง จนแทบไม่หลงเหลือความเป็นต้นวงศ์ของพระพุทธศาสนา เพราะนี้คือ สัจธรรมของโลก ที่แสดงออกมาอย่างเที่ยงตรงในกฎไตรลักษณ์ ดั่งองค์พระสัมมาได้ตรัสรู้ไว้ดีแล้ว
แม้ในกาลปัจจุบัน จะล่วงเลยมาจนถึงช่วงกึ่งกลางพระพุทธศาสนาแล้วก็ตาม ธรรมชาติของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ยังดำเนินต่อไป แม้แต่ในประเทศไทย อันเป็นดินแดนพระพุทธศาสนา ที่ยังคงรุ่งเรืองสูงสุดในปัจจุบัน ก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะเสื่อมลง ดังที่พ่อแม่ครูอาจารย์ ท่านบอกว่า ประเทศไทย พระพุทธศาสนา จะยังดำเนินไปได้อีกราวสองร้อยปี จึงจะอ่อนกำลังลง แล้วต่อไป ก็จะไปปรากฏความรุ่งเรืองในประเทศแถบรัสเซียและยุโรป หลังจากนั้นอีกนับพันปี จึงจะเบนไปสู่ประเทศอเมริกา แล้วในที่สุด ช่วงท้ายแห่งพุทธกาล พระพุทธศาสนา ก็จะกลับมาเจริญที่อินเดียอีกครั้ง (เรื่องนี้ รู้เห็นเป็นปัตจัตตัง เฉพาะองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ โปรดใช้วิจารณญาณ)



ภาพวาดการสร้างวัดในพม่า


2. บทแห่งกรรม

ท่านทั้งหลาย ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศพม่า หรือเมียนมาร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2552 ในฐานะศิษย์รุ่นพี่ของนิสิตปริญญาเอก สาขาศิลปวัฒนธรรมวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร โดยการนำของคณะครูอาจารย์มี ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีในขณะนั้น รวมทั้งคณะผู้บริหาร และนิสิตปริญญาเอกจำนวนหนึ่ง คณะพวกเราได้จาริกท่องเที่ยวไป ศึกษาศิลปวัฒนธรรม และศาสนสถานสำคัญของพม่า ในสามเมืองใหญ่คือ ย่างกุ้ง หงสาวดี และพุกาม
สภาพทั่วไปของพม่าในเวลานั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน สภาพบ้านเมืองไม่ค่อยมีความเจริญเท่าใดนัก ผู้เขียนเอง ในฐานะเป็นนักภาวนา จึงอดที่จะคิดถึงเรื่องของผลกรรมไม่ได้ หรือนี่ จะเป็นผลกรรมมาจากการเผาบ้านเมืองของผู้อื่นในอดีต เผาแม้กระทั่งวัดวาอาราม แม้แต่พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ ก็มิมีละเว้น เป็นการเผาหัวใจของตัวเอง เพราะพระพุทธศาสนา ก็เป็นศาสนาที่ตนเองนับถือ ก็เพราะด้วยความหลงในอำนาจ ไฟแห่งความหลง จึงร้อนลุ่มมาจนกระทั่งทุกวันนี้


ชาวเมียนมาร์ในเมืองพุกาม


แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหวนกลับมาย้อนดูประเทศไทยในปัจจุบัน (2552) ก็คงไม่ต่างกัน เพราะผู้นำและประชาชนทุกฝ่าย กำลังหลง หลงในบางสิ่ง จนนำไปสู่ความวุ่นวาย ต่างแยกฝ่าย แยกพวก ไปร่วมกันสร้างกรรม กรรมดีหรือกรรมชั่วนั้นก็ไม่รู้ เพราะไม่สามารถแยกแยะออก ด้วยเพราะมีโมหะและโทสะจริต ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน จนลืมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อสร้างกรรมร่วมกันแล้ว กรรมนั้นก็จะไปบังเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า อย่างซื่อสัตย์ซื่อตรง เรื่องนี้ องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ เคยปรารภกับผู้เขียนว่า
"ผู้ใด ไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น โดยเฉพาะสุจริตชน ให้เขาลำบากในการทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง ด้วยการปิดกั้นขวางทาง หรือทำลายวัตถุข้าวของ แลจิตใจของผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ หรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม กรรมนั้น ก็จะย้อนกลับไปขัดขวางการทำมาหากิน และความเจริญในทุกๆด้านของพวกเขา ทั้งในภพนี้และในภพกาลข้างหน้า อย่างแน่นอน ฉะนั้น หากมีบุญได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก พวกเขาก็จะเสวยวิบากกรรม และความทุกข์ที่ได้กระทำมานั้นทันที"


3. พระพุทธศาสนา ยังมั่นคงในความศรัทธาของชาวพม่า

ท่านทั้งหลาย เมียนมาร์หรือพม่า เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน โดยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน ในอดีต ประเทศพม่า เคยรุ่งเรืองคู่กันมากับประเทศไทย แต่เมื่อได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา ประเทศพม่าก็เผชิญกับหนึ่งในสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อที่สุด ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งยังแก้ไม่ตก และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ถึง 2554 ประเทศพม่า ก็ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร แม้ในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไป ในปี พ.ศ. 2553 จะได้มีการตั้งรัฐบาลพลเรือนในนามแทน และคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง จะถูกยุบอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2554 ก็ตาม แต่ในปัจจุบัน ทหารก็ยังคงมีอิทธิพลมากอยู่เช่นเดิม

กระนั้นก็ตาม แม้ชาวพม่า จะตกอยู่ในสภาพความยากลำบาก ในการดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจน แต่ความศรัทธา ในพระพุทธศาสนานั้น กลับเป็นที่พึ่งทางใจได้อย่างเหนียวแน่น ไปในที่ไหนๆ บนดินแดนพม่า ก็ยังปรากฏภาพวัดวาอารามมากมาย ชาวบ้านชาวเมือง ต่างก็พากันไปวัด ต่างก็ให้ความเคารพศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา แม้แต่รองเท้าก็ไม่สวมเข้าไปภายในบริเวณวัด ส่วนจิตใจของผู้คน ก็อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เห็นว่าจะเป็นคนบ้านป่าเมืองเถื่อน ตามที่ฝรั่งชาติตะวันตกสร้างวาทกรรม และสร้างภาพอันน่ากลัวไว้
ผู้เขียนเอง แม้ในขณะนั้น จะมีปัญญาธรรมเพียงน้อยนิด แต่เมื่อได้ไปเยือนถิ่นพระพุทธศาสนาแล้ว ก็อดไม่ได้ ที่จะถือโอกาสหาเวลา และสถานที่ เพื่อนั่งภาวนา แผ่จิตเมตตา ไปตามบุญวาสนา ที่มีอยู่ในขณะนั้น ก็ได้รับความสงบ และรู้สึกที่ดีต่อการมาเยือนประเทศนี้





พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง


4. พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง 


พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จำนวน 8 เส้น ตามตำนานนั้นเล่าว่า มีพี่น้องพ่อค้า 2 คน ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงประทานพระเกศามา 8 เส้น แก่พ่อค้าทั้งสองไว้บูชา ว่ากันว่าเจดีย์ชเวดากองนั้น สร้างเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่า สร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6-10 โดยชาวมอญ ต่อมาพระเจดีย์ได้ถูกทิ้งร้าง จนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าพินยาอู ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ใหม่สูง 18 เมตร พระเจดีย์ได้ถูกซ่อมแซมเรื่อยมา จนมีความสูง 98 เมตร ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แผ่นดินไหวเล็กๆน้อยๆ หลายครั้ง จึงทำให้พระเจดีย์ได้รับความเสียหาย และเมื่อปี พ.ศ. 2311 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก จึงทำให้ยอดของพระเจดีย์หักถล่มลงมา ในช่วงปี พ.ศ. 2552 เจดีย์ก็ได้รับการบูรณะอย่างที่เห็นในภาพอีกครั้ง







พระบรมสารีริกธาตุ พระเจดีย์ และพระพุทธรูปหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ กรุงย่างกุ้ง


5. กรุงหงสาวดี นครแห่งอดีตพระนเรศวรมหารา

ท่านทั้งหลาย ประเทศพม่าก็เหมือนกับประเทศต่างๆ ที่มีอยู่บนโลกสมมุติใบนี้ คือ การมีเมืองหลวงและเมืองสำคัญ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันเจริญขึ้น แล้วก็เสื่อมลงเป็นธรรมดา กรุงหงสาวดีเมืองหลวงเก่าของพม่า ที่คนไทยรู้จักกันดีก็เช่นกัน ไม่ต่างกันกับกรุงศรีอยุธยา ที่เหลือไว้แต่ตำนานของเมืองเก่า ที่เคยเจริญรุ่งเรืองสุดขีดมาแล้ว
กรุงหงสาวดี (Handawaddy) หรือ พะโค เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรหงสาวดี ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำพะโค ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเมาะตะมะ ทางตอนใต้ของประเทศพม่า และอยู่ทางใต้ของเมืองแปร, เมืองคัง, ยะไข่, อังวะ และพุกาม เมืองหงสาวดีเดิม เป็นเมืองของชาวมอญมาก่อนในอดีต ก่อนที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จะยึดครองได้ ในปี พ.ศ. 2082 ต่อมาจึงได้สถาปนาเป็นศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์ตองอู

ต่อมาเมืองหงสาวดี ได้เจริญรุ่งเรืองสุดขีดในรัชสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง เนื่องจากพระองค์ให้ทรงสร้างพระราชวังของพระองค์ ที่ชื่อ กัมโพชธานี ซึ่งนับเป็นพระราชวังใหญ่โต มีประตูทางเข้าออกถึง 10 ประตู โดยการเกณฑ์ข้าทาสจากเมืองขึ้นต่างๆ มาสร้าง โดยหนึ่งในนั้น มีเมืองเชียงใหม่และอยุธยารวมอยู่ด้วย จนถึงสมัยพระเจ้านันทบุเรง หลังศึกยุทธหัตถีแล้ว นัดจินหน่องได้ผูกมิตรกับเมืองยะไข่และอยุธยา เพื่อเข้าตีหงสาวดี แต่มหาเถรเสียมเพรียมได้ยุยงให้ตองอูไม่เข้ากับอยุธยา ดังนั้น เมื่อทัพตองอูมาถึงหงสาวดี ก็ได้เข้าตีและล้อมเมืองเอาไว้ เมื่อทางหงสาวดีทราบข่าวว่า พระนเรศวรปราบทหารตามแนวชายแดนสำเร็จแล้ว จึงเปิดประตูเมืองรับทัพตองอู พระเจ้านันทบุเรง มอบสิทธิ์ขาด ในการบัญชาการทัพแก่นัดจินหน่อง และเชิญพระเจ้านันทบุเรงไปประทับ ณ ตองอู เพื่อเตรียมรับทัพพระนเรศวร ตองอูได้กวาดต้อนพลเรือนและทรัพย์สินไปยังตองอู ทิ้งเมืองให้ยะไข่ปล้นและเผาเมือง ส่วนพระนเรศวร มาถึงหงสาวดี ก็เหลือแต่เมืองที่ถูกเผาแล้ว พระนเรศวรจึงยกทัพไปตีตองอูต่อ เหตุการณ์ดังกล่าว นับเป็นจุดจบของกรุงหงสาวดี หลังจากนั้น ศูนย์กลางอำนาจของพม่า ได้ย้ายไปยังอังวะ, อมรปุระ และมัณฑะเลย์ตามลำดับ จนถึงวันที่พม่าเสียเอกราชให้แก่อังกฤษ





ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
ณ พระราชวังกัมโพชธานีของพระเจ้าบุเรงนอง ที่ได้รับการบูรณะและสร้างขึ้นมาใหม่


อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของหงสาวดี คือ พระธาตุชเวมอดอ หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า พระธาตุมุเตา เป็นพระธาตุที่อยู่มานานคู่กับเมือง เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่เมือง เชื่อว่าภายในได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ เล่ากันว่า เมื่อครั้งใด ที่พระเจ้าบุเรงนองจะออกทำศึก จะทรงสักการะขอพรจากพระธาตุนี้ทุกครั้ง และเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จมายังที่หงสาวดีนี้ ก็ได้ทำการสักการะพระธาตุนี้ด้วย

สัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี ที่สำคัญอีกหนึ่งคือ เป็นรูปหงส์คู่ มีตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองหงสาวดี ที่สมัยก่อนยังคงเป็นชายหาดริมทะเล พระพุทธเจ้าทรงเห็น หงส์สองตัวว่ายน้ำเล่นกัน จึงทำนายออกมาว่า ภายหลังจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ชาวหงสาวดี จึงถือเอาตำนานเรื่องนี้มาเป็นสัตว์สัญลักษณ์ นอกจากนี้ ตำนานยังกล่าวว่า หงส์คู่นั้น ตัวเมียขี่ตัวผู้ จึงมีคำทำนายว่า ต่อไปผู้หญิงจะเป็นใหญ่ ซึ่งผู้หญิงคนนั้นคือ พระนางเชงสอบู (ตะละแม่ท้าว) นั่นเอง ปัจจุบัน หงสาวดีเป็นเมืองที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศพม่า ด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี : ออนไลน์)





พระธาตุมุเตา เมืองหงสาวดี


6. อัศจรรย์ใจ ณ พระธาตุมุเตา

ท่านทั้งหลาย เมื่อผู้เขียนได้ก้าวไปอยู่บนแผ่นดิน และเข้าสู่เขตพระราชวังเก่า แห่งเมืองหงสาวดีแล้วนั้น แม้จิตหนึ่ง จะทึ่งในความยิ่งใหญ่ในอดีต แต่ในอีกใจหนึ่ง กลับแลเห็นความทุกข์เศร้าหมองแฝงอยู่ในอาณาบริเวณพระราชวังเก่านั้น อย่างบอกไม่ถูก ยิ่งมารับรู้ว่า สถานที่แห่งนี้ เคยเป็นสถานที่ที่พระนเรศวรเคยประทับอยู่ หรือแม้ในบางอาณาบริเวณ ก็เป็นสถานที่เฉพาะของเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาอยู่อาศัย ก็ดูชั่งเงียบเหงาวังเวงเสียยิ่งกะไร แต่พอออกมานอกเขตพระราชวังเก่า ไปสู่อาณาเขตแห่งศาสนจักรคือ วัดพระธาตุมุเตาอันศักดิ์สิทธิ์ กลับสงบสุขอย่างบอกไม่ถูก จิตเกิดปีติ ยิ่งเมื่อได้เอาหน้าผากสัมผัสแตะลงไปอธิษฐาน บนยอดเจดีย์ที่หักลงมา หน้าผากนั้นถูกดูดลงไปแนบแน่นกับพื้นยอดเจดีย์ พร้อมกับเกิดปีติซาบซ่านไปทั้งกายใจ อย่างน่าประหลาดใจ จึงได้แต่เก็บความรู้สึก ที่มีต่อศาสนสถานแห่งนี้ อย่างเคารพศรัทธา สมกับที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้

อ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/หงสาวดี




7. อาณาจักรพุกาม เมืองล้านเจดีย์

อาณาจักรพุกาม (Pagan Kingdom) เป็นอาณาจักรโบราณ ในช่วง พ.ศ. 1587 - พ.ศ. 1830 พุกามเป็นอาณาจักร และราชวงศ์แห่งแรกในประวัติศาสตร์พม่า มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพุกามในปัจจุบัน เดิมมีชื่อว่า "ผิวคาม" (แปลว่า หมู่บ้านของชาวผิว) เป็นเมืองเล็กๆ ริมทิศตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี สภาพส่วนใหญ่ เป็นทะเลทรายแห้งแล้ง เป็นที่อยู่ของชาวผิว ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง ในปี พ.ศ. 1587 พุกามถูกสถาปนาโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ พระองค์ต้องทำสงครามกับชาวมอญที่อยู่ทางใต้ จึงได้สถาปนาชื่ออย่างเป็นทางการของพุกามว่า "ตะริมันตระปุระ" (หมายความว่า เมืองที่ปราบศัตรูราบคาบ)

รอบๆ เมืองพุกาม มีหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ "มินดาตุ" ซึ่งเป็นเขตเมืองโบราณ 4 แห่ง ล้อมรอบอยู่ด้วย ในรัชสมัยพระเจ้าจานสิตา กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พุกาม เป็นสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด มอญที่อยู่ยังหงสาวดีทางตอนใต้ ได้ทำสงครามชนะพุกาม และครอบครองดินแดนของพุกามไว้ได้ พระองค์จึงรวบรวมชาวพม่าและชาวมอญบางส่วนตีโต้คืน จึงสามารถยึดพุกามกลับมาไว้ได้

พุกาม เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ทางด้านศิลปวิทยาการ ในสมัยพระเจ้าอลองสิธู ใน พ.ศ. 1687 พระองค์ได้โปรดให้สร้างเจดีย์ชื่อ "ตะเบียงนิว" (แปลว่า เจดีย์แห่งความรู้) ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในพุกามไว้ด้วย กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์พุกาม คือ พระเจ้านรสีหบดี สร้างเจดีย์องค์สุดท้ายแห่งพุกาม เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 1819 และเมื่อสร้างเจดีย์องค์นี้เสร็จ ได้มีผู้ทำนายว่า อาณาจักรพุกามจะถึงกาลอวสาน ซึ่งต่อมาก็เป็นจริงดังนั้น เมื่อกองทัพมองโกลยกทัพเข้ามาบุกในปี พ.ศ. 1827 และพุกามถึงคราวล่มสลายในปี พ.ศ. 1830 รวมระยะเวลาแล้ว 243 ปี มีกษัตริย์อยู่ทั้งหมดทั้งสิ้น 11 พระองค์ อาณาจักรพุกาม หลังปี พ.ศ. 1830 ถูกมองโกลยึดครอง และแบ่งดินแดนออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลเชียงเมียน โดยรวมรัฐทางเหนือของพม่าเข้าด้วยกัน มีเมืองตะโก้ง เป็นศูนย์กลาง ภายใต้การปกครองของข้าหลวงจีน มีทหารมองโกลประจำ และมณฑลเชียงชุง อยู่ทางภาคใต้ของพม่า มีพุกามเป็นศูนย์กลาง จนปี พ.ศ. 1834 จึงได้แต่งตั้งพระเจ้ากะยอชวา เป็นกษัตริย์ปกครองพุกาม ในฐานะประเทศราชของจีน (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี : ออนไลน์)




อธิการบดี คณะรองอธิการบดี คณบดี และนิสิตปริญญาเอก สาขาศิลปวัฒนธรรมวิจัย รุ่น 1 และ 2
ณ ยอดเจดีย์เมืองพุกาม ประเทศเมียนม่าร์ กุมภาพันธ์ 2552


ท่านทั้งหลาย เมื่อผู้เขียนได้ย่างเท้าเข้าสู่เขตอาณาจักรพุกาม อาณาจักรแห่งพระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ ผู้เขียนไม่เคยเห็นอะไรที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้มาก่อน ไม่นึกว่าเมืองเก่าเมืองโบราณแห่งนี้ ก็คงเหมือนกับเมืองเก่าที่เราเคยเห็นกระมัง แต่พอได้สัมผัสและแลเห็นด้วยตาของตัวเองแล้ว โอ้โฮ... วัดและเจดีย์ผุดขึ้นจากพื้นดิน ราวกับดอกเห็ด ยิ่งได้ขึ้นไปชมวิวบนยอดเจดีย์ จนสามารถมองเห็นรอบทุกทิศทางแล้ว ภาพที่ปรากฏ ถึงกับอุทานออกมาว่า “อะไรกันนี่ เหมือนกับทะเลแห่งเจดีย์เลยหรือนี่” เพราะรอบๆ มองไปในทิศทางใด ก็แลเห็นแต่ยอดวัด ยอดเจดีย์ใหญ่น้อยผุดขึ้นมาจากดิน เรียงรายกระจัดกระจายไปทั่ว สมกับคำเปรียบเปรยว่า “พุกามเป็นเมืองแห่งล้านเจดีย์” แม้ปัจจุบัน วัดและเจดีย์ จะยังคงสภาพที่สมบูรณ์และยังเหลืออยู่ ประมาณสี่พันเจดีย์ก็ตาม แต่นั้นก็นับว่า เป็นอาณาจักรแห่งพระพุทธศาสนา ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เคยมีมา






อาณาจักรล้านเจดีย์แห่งเมืองพุกาม

 

แม้ในขณะนั้น ขณะที่ผู้เขียนยืนมองโดยรอบอยู่บนยอดเจดีย์ ในขณะอาทิตย์กำลังอัสดง แม้ผู้เขียนจะไม่มีญาณแลเห็นสิ่งอัศจรรย์ได้ แต่ผู้เขียน ก็ได้สร้างมโนภาพขึ้นภายในใจว่า มีแสงสว่างของพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุทั้งหลาย ผุดขึ้นเป็นลำแสง สว่างไสวไปบนท้องฟ้า ประหนึ่งภาพแสงเลเซอร์ ในการเฉลิมฉลองงานหนึ่ง











เจดีย์และพระพุทธรูปที่เมืองพุกาม

อย่างไรก็ตาม แม้อาณาจักรพุกาม จะยิ่งใหญ่และเจริญสูงสุด ทั้งเรื่องอาณาจักร และศาสนจักร มากมายเพียงใดก็ตาม แต่ความยิ่งใหญ่นั้น ก็คงทนอยู่ได้เพียงชั่วระยะหนึ่ง แล้วเสื่อมความเจริญลงในที่สุด ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติของโลก ธรรมชาติในความเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา เห็นแล้วก็ได้แต่ปลงอนิจจังว่า สิ่งทั้งหลาย ล้วนไม่เที่ยง

เมื่อคณะกลับไปถึงที่พักในโรงแรมแล้ว ผู้เขียนจึงถือโอกาสนั่งภาวนา แผ่เมตตา ไปตามบุญวาสนาที่มีอยู่ วาระการจาริกบุญก็จบลงอีกวาระหนึ่ง และท้ายสุดนี้ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่าน จงมีความผาสุขร่มเย็น ทุกท่านเทอญ


อ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/อาณาจักรพุกาม




พระสงฆ์ชาวเมียนมาร์ ณ เมืองพุกาม

           
            สุดท้ายนี้ เมื่อท่านทั้งหลาย ได้อ่านบทความเรื่อง ธรรมสัญจร "เมียนมาร์ ดินแดนพระพุทธศาสนา" ต้นปี 2552 จบลงครบทุกตอนแล้ว ขอผลานิสงส์แลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว จงย้อนกลับไปบันดาลให้ทุกท่าน จงมีแต่ความสุขความเจริญ สงบสุขร่มเย็น มั่งมีศรีสุข อายุมั่นขวัญยืน แลสว่างไสวทั้งทางโลกและทางธรรม จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทุกท่านเทอญ

          ขอเจริญในธรรม
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
          4 ธันวาคม 2556