หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2567

สภาวธรรม บันทึกแรกของนักภาวนา

 




ภาพเมื่อ 8 เมษายน 2555



ภาพถ่ายย้อนหลัง 24 มิถุนายน 2559

"สภาวธรรม" บันทึกแรกของนักภาวนา
ภายใต้บารมีพ่อแม่ครูอาจารย์
ในธรรมปฏิบัติสัญจรภาคเหนือครั้งแรก
5-9 เมษายน 2555
🔹1🔹 🔶 หลวงพ่อปราบศิษย์ผู้มาใหม่

ท่านทั้งหลาย บุรุษผู้หนึ่งได้แสวงหาครูอาจารย์มาแล้วหลายรูป จนในกลางปี 2554 จึงได้นิมิตเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ว่า ในอีก 6 เดือนจะได้พบกัน หลังจากครบ 6 เดือนแล้ว ในช่วงปลายปี 2554 จึงมีเหตุให้ได้มาพบกับท่านจริง ณ ที่พักสงฆ์โคกปราสาท ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านเกิด และนับเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในวาระธรรมปฏิบัติสัญจร ในค่ำคืนแรก วันที่ 5 เมษายน 2555 หลวงพ่อและคณะ ได้เดินไต่ขั้นบันไดสูงขึ้นไปพักภาวนา ณ บริเวณหน้าถ้ำวัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่บนเขาที่สูงมาก ต่อมา หลวงพ่อได้เล่าให้คณะลูกศิษย์ฟังในภายหลังว่า ในค่ำคืนนั้น หลวงพ่อตั้งใจจะปราบศิษย์ผู้มาใหม่ ด้วยการเทศนาเจาะจงโดยเฉพาะ ด้วยคำพูดแรกว่า...

..."ด็อกเตอร์... เหนื่อยไหม แบกอะไรมาพะรุงพะรัง ไม่หนักหรือ... เห็นแขวนพระห้อยเหรียญมาเต็มคอ เสียงกระทบกันดังกรุ๊งกริง ไม่หนักเหรอ ให้พระขี่คออยู่ได้ ทำไมไม่ให้พระแบกเราขึ้นมาละ การนับถือเหรียญมันก็ดีอยู่หรอก แต่ก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ พระพุทธเจ้าให้เราพึ่งบุญของตัวเอง ปฏิบัติเอาเอง อย่าไปหวังพึ่งสิ่งภายนอก"...

จากคำสอนสั้นๆ แต่มันกระแทกใจของบุรุษผู้เป็นศิษย์อย่างจัง เพราะท่านรู้วาระจิตของศิษย์ว่า เขายังติดข้องอยู่ในอะไร เมื่อเขาพิจารณาตามท่านได้ จึงรู้แจ้งในความจริงว่า ตัวเองกำลังปฏิบัติแบบหลงลูบคลำอยู่ หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาก็ไม่ได้แขวนพระอะไรอีก... หลวงพ่อเล่าต่อไปว่า วันนั้น... "จิตของผู้เป็นศิษย์สว่าง"... เพราะได้ละวางสิ่งที่ลุ่มหลงลงได้

🔹2🔹 🔶 ใจถึงใจ

คืนวันที่ 6 เมษายน 2555 หลวงพ่อและชาวคณะ พักค้างคืนภาวนาอยู่ในสวนป่าสัก อ.เมือง จ.แพร่ ขณะภาวนา บุรุษผู้หนึ่ง ได้พิจารณาข้อธรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะความซาบซึ้ง ในปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์ ว่าบัดนี้เราได้พบแล้ว จิตจึงโน้มเข้าไปกราบแทบเท้าองค์ท่าน พร้อมกับอธิษฐาน ขอเป็นลูกศิษย์ท่าน พลันจิตสะท้านแผ่ซ่านไปทั้งกาย ด้วยกระแสจิตของท่านสะท้อนกลับมา ใจจึงปีติยินดี พอออกจากสมาธิแล้ว หลวงพ่อยิ้ม พร้อมกับเอ่ยขึ้นมาเป็นเชิงนัยว่า... "เป็นอย่างไร รู้อะไรบ้างละ"... เขายิ้มน้อมรับว่า... "ครับ........"...

🔹3🔹 🔶 กิเลสซ้อนกิเลส

ค่ำคืนวันที่ 7 เมษายน 2555 ณ อ่างเก็บน้ำเชิงเขา ดอยม่อนพระธาตุ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ขณะที่บุรุษผู้หนึ่ง นั่งภาวนาอยู่ใกล้ๆ กับหลวงพ่อ อาจด้วยความเกรงในการหยั่งรู้วาระจิตของท่าน จึงทำให้เขาระวังในความคิดทั้งหลาย ที่จะไปกระทบกับท่าน เพราะเข้าใจว่า ท่านกำลังตามดูจิตของตนอยู่ ตลอดเวลา จึงมีสติตามรู้อาการที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้งหก ขณะใดจิตมันเฉออกไปคิดนอกกายและใจ สติก็ดึงกลับมาสู่ปัจจุบันธรรมได้ไวขึ้น
ต่อมา ได้มีสภาวธรรมบางอย่างเกิดขึ้น คือ ในขณะที่ภาวนา ปรากฏว่า ท้องมันร้องดังขึ้นมาด้วยความหิว ทันใดนั้น พลันถ้วยกาแฟที่สวยงามก็ปรากฏขึ้นมา พร้อมกับส่งกลิ่นหอมอบอวล แต่สติระลึกรู้ได้ทันท่วงทีเช่นกันว่า... "เฮ้ย มึงเป็นกิเลสนี่ มึงปรุงขึ้นมา กูทุบมึงเดี๋ยวนี้".... ปรากฏว่า ถ้วยกาแฟแตกกระจาย ตามที่จิตสั่งทันที แต่แล้ว ถ้วยกาแฟพร้อมกลิ่นหอม ก็ปรากฏขึ้นมาอีก จิตก็ทุบมันแตกเปรี้ยงไปอีก เกิดขึ้นเร็ว ก็ทุบเร็ว สู้กันไปหลายนาที ไม่นาน มี "ผู้รู้" ผุดขึ้นมาว่า... "เฮ้ย เราปรุงกิเลสขึ้นมาทั้งคู่นี่ จิตปรุงถ้วยกาแฟพร้อมกลิ่นหอมขึ้นมาเอง แล้วจิตก็ปรุงไปทุบมัน โอ้ตายแล้ว มันเป็นกิเลสทั้งคู่นี่" ...ทันใดนั้น ทั้งภาพถ้วยกาแฟและการทุบถ้วย ก็อันตรธานหายไปในพริบตา เรื่องที่ผ่านมาเมื่อสักครู่ มันดับไปโดยอัตโนมัติ คงเหลือแต่ความสงบสว่างและเบาสบาย หลังออกจากสมาธิแล้ว หลวงพ่อท่านเมตตาเอ่ยว่า... "ดีแล้ว เพียรเอานะ"...

🔹4🔹 🔶 อัศจรรย์การกำเนิดของพื้นโลก
หลังจากนั่งสมาธิแล้ว ราวเที่ยงคืน หลวงพ่อบอกให้บุรุษผู้เป็นศิษย์ ไปเดินจงกรมใกล้กับตลิ่งริมน้ำ ขณะเดินจงกรมราวชั่วโมง เขามีสติรู้เท่าทันอายตนะ และพิจารณาธาตุทั้งสี่สลับกันไป เมื่อพิจารณาไปได้ระยะหนึ่ง ขณะเดินไปสุดทางจงกรม เขาได้ยืนหลับตา พลันจิตสงบลง ทันใดปรากฏมีภาพพื้นดินและป่าเขาที่เขายืนอยู่ กลายเป็นดินง่วนสีขาวนวล ราบเรียบไปหมด เสมือนเป็นการเกิดใหม่ของภูเขาลูกนี้ พร้อมกับเปลี่ยนสภาพไปเป็นดิน หิน น้ำ หญ้า มีลมฝน มีหนองน้ำ มีป่าต้นไม้ ต้นไม้เกิดแล้วก็ตายไป ภาพเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เป็นการฉายภาพย้อนอดีต ตั้งแต่การเกิดขึ้นของผิวโลกบริเวณนี้ แต่เนื่องจากเป็นภาพนิมิตชัดแจ๋วเป็นครั้งแรกๆ จึงไม่แน่ใจว่า นี่คืออุปทานหรือไม่ จึงพยายามกำหนดจิตไปเรื่องอื่น แต่การเปลี่ยนแปลงของบริเวณนั้น ก็ยังปรากฏเป็นฉากๆ ฉายต่อเนื่องไปจนถึงปัจจุบัน สติปัญญา จึงได้โอกาสพิจารณาเห็นความเป็นอนิจจัง มีความเปลี่ยนแปลงไปไม่สิ้นสุด มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เห็นไตรลักษณ์เกิดขึ้นที่ใจ เป็นครั้งแรก
เมื่อพิจารณาได้พอสมควรแล้ว ก็ถอนออกมา แล้วเดินจงกรมต่อไป เมื่อมาถึงปลายทางอีกด้านหนึ่ง ก็หยุดยืนมองไปที่ภูเขาอีกลูกหนึ่งแล้วหลับตา ก็เกิดภาพทำนองเดียวกันอีก สิ่งที่เกิดขึ้น จะเรียกว่าอะไรก็ไม่ทราบได้ หรือจะเป็นอะไรก็ชั่งมันเถอะ เพราะที่สุด มันก็เป็นอนัตตาอยู่ดี

🔹5🔹 🔶 จิตสว่างจ๊าด

คืนวันที่ 8 เมษายน 2555 หลวงพ่อและคณะ พักค้างคืนภาวนา ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำ ที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ขณะภาวนา บุรุษผู้หนึ่ง ยังมีสติเฝ้าระวังความคิด เพราะทราบว่า ครูอาจารย์คอยดูอยู่ อีกทั้งหลวงพ่อแนะนำให้ภาวนา ด้วยการละวางความคิด ทำใจให้สบายคล้ายกับการนอนหลับ แต่สติต้องไม่ขาด พอนานเข้า จิตก็สงบลง ปรากฏมีแสงสว่างวาบ ประมาณแสงสปอร์ตไลท์หน้ารถยนต์ ส่องสว่างจ๊าดออกไปไม่มีประมาณ จิตไม่เคยพบพานมาก่อน จึงปีติตื่นเบิกบาน แม้สภาวะนี้จะเป็นเพียงขั้นพื้นฐาน แต่ก็เป็นกำลังใจที่สุด

🔹6🔹 🔶 ธรรมจากสัญญา

หลังออกจากนั่งสมาธิแล้ว หลวงพ่อพาลูกศิษย์เดินจงกรม ไปตามเส้นทางบนถนนหลังอ่างเก็บน้ำ และวนไปตามถนนรอบที่ทำการ ระยะทางมากกว่ากิโลเมตร เดินอยู่หลายรอบจนเลยเวลาเที่ยงคืน ขณะเดียวกัน บุรุษผู้หนึ่ง ได้เดินตามหลังหลวงพ่อ สติจึงอยู่กับการเดิน สลับกับการพิจารณาอยู่กับสิ่งที่มาปะทะกับอายตนะ บางช่วงได้หยิบยกเอาข้อธรรมตามสัญญาขึ้นมาพิจารณา ขณะพิจารณาจิตก็รู้ว่า หลวงพ่อเฝ้าดูอยู่ จึงเอ่ยในใจไปว่า... "ข้าน้อยพิจารณาจากสัญญา ยังไม่เห็นจริง แต่ขอพิจารณาอย่างนี้ไปก่อน ข้าน้อย"... พลันเสมือนหลวงพ่อได้ตอบกลับมาว่า... "ใช่แล้ว"... เมื่อพิจารณาธรรมเพลินไปได้ระยะหนึ่ง สติระลึกได้ว่า... "นี่ก็เป็นแต่สัญญาดอก"... พลันคลื่นก็ตอบมาทันทีว่า... "ใช่แล้ว"... นานเข้าสติเคลื่อนไปอยู่กับเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะการเดินขึ้นลงหลังอ่างน้ำเป็นเวลานาน จึงวางธรรมในสัญญาลงได้ อีกทั้ง ลูกศิษย์หลายคนได้โอดโอยในใจว่า "เมื่อไรหลวงพ่อจะพาหยุดสักที" หลวงพ่อได้ยินเสียงอื้ออึง จึงเห็นใจ เพราะใช้เวลาเดินนับชั่วโมงแล้ว หลวงพ่อจึงพาหยุด วาระจึงจบลง

🔹7🔹 🔶 เสียงปริศนา

เย็นวันที่ 9 เมษายน 2555 ขณะเดินทางกลับมาถึงเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา หลวงพ่อและชาวคณะ ได้แวะพักที่ริมเขื่อนลำตะคอง ขณะสวดมนต์และนั่งภาวนา ได้มีผู้ไม่มีตัวตนเข้ามาแสดงฤทธิ์ ด้วยการเนรมิตลมพัดกระหน่ำมาเป็นระลอกๆ ต่อมา บุรุษผู้หนึ่งได้ยินเสียงผู้ไม่มีตัวตน โยนอะไรบางอย่างดังตุ๊บ แล้วกลิ้งเสียงดังผ่านหน้าไปเพื่อขับไล่ เมื่อไม่มีผู้ใดสนใจ ผู้ลึกลับจึงเปล่งเสียงคำรามว่า... "มาทำไม มาทำอะไร เราไม่ชอบ" บุรุษผู้ภาวนาจึงได้แต่สังเวชในกรรมของเขา ต่อมาภายหลัง หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่า พญานาคตนหนึ่ง มีมานะทิฏฐิมาก ไม่ยอมใคร เพราะคิดว่าตนเป็นใหญ่ จึงไม่พอใจที่คณะมาแวะพักภาวนาที่นี่ จึงเข้ามาก่อกวน แต่ภายหลังเขาได้สำนึก จึงได้ขอขมาต่อหลวงพ่อ

ขอเจริญธรรม
ดร.นนต์
10 เมษายน 2555


วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

(038) ธรรมาปาฏิหาริย์ อำนาจแห่ง "พุทโธ"




ธรรมาปาฏิหาริย์ อำนาจแห่ง "พุทโธ"
แม่ชีประกอบ (พี่สาว ดร.นนต์)

          ท่านทั้งหลาย มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ฟัง คือ ในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ก่อนที่บุรุษผู้หนึ่ง จะเดินทางไปกราบครูอาจารย์ที่กาฬสินธุ์ เขาได้รับโทรศัพท์จากพี่เขยว่า พี่สาวจะเข้าผ่าตัดมะเร็งเต้านม แบบเร่งด่วน บุรุษผู้เป็นน้องชาย จึงให้กำลังใจไปตามสายว่า ..."ผมไม่ได้อยู่ดูแลนะ แต่ผมจะภาวนาช่วย และให้ภาวนา "พุทโธ" นะ"... เธอตอบตกลง

ความจริงแล้ว พี่สาวและผู้เป็นน้องชาย เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ในธรรมมาตั้งแต่เด็ก ด้วยการเข้าวัด คอยตามรับตามส่งเสื่อสาดหมอน เวลาที่ยายและมารดา ไปจำศีลภาวนาอยู่ที่วัดเป็นประจำ

ต่อมา เมื่อราวปี 2553 พี่สาวและพี่เขย เริ่มเข้าวัดอย่างจริงจัง ด้วยการไปปฏิบัติธรรมกับพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร แห่งโคกปราสาท ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านของเธอ ราว 11 กิโลเมตร หลังจากนั้น ปลายปี 2554 บุรุษผู้เป็นน้องชาย ก็ได้ตามไปถวายตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแห่งโคกปราสาท พร้อมทั้งได้พาผู้เป็นมารดา ไปปฏิบัติธรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม พี่สาวได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อเธอเริ่มภาวนาครั้งแรกนั้น ปรากฏว่า ขณะที่จิตสงบ ก็เกิดภาพนิมิต เห็นพระสงฆ์และแม่ชีสลับกัน นั่นจึงเป็นกำลังใจ ให้เธอมุ่งปฏิบัติธรรมเรื่อยมา

ต่อมา ก่อนที่พี่สาวจะรู้ว่าตัวเองป่วยไม่กี่เดือน หลวงพ่อผู้มีปัญญาญาณ ได้บอกพี่สาวไว้ล่วงหน้าว่า... "แตงโมที่ปลูกไว้ ก็งามดีเนาะ สิได้เงินหลายอยู่ แต่ให้เก็บเงินไว้รักษาตัวเองนำเด้อโยม"... แล้วท่านก็สอนให้ภาวนา "พุทโธ" และให้พิจารณาถึงความตายว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอารมณ์ ให้พิจารณาร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ไม่มีสิ่งใดเป็นของตน

ท่านทั้งหลาย ครั้งแรก ที่เธอเริ่มสัมผัสก้อนเนื้อร้ายที่เต้านม เธอไม่ประมาท จึงได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หมอวินิจฉัยว่า เธอเป็นมะเร็ง เธอตกใจเล็กน้อย แต่ด้วยคุณแห่งการภาวนา และการพิจารณาสังขารอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งการพิจารณาเรื่องของเวรกรรม ที่ต้องชดใช้เจ้ากรรม จึงช่วยให้เธอระงับความวิตกกังวลได้
🌼 ความอัศจรรย์ครั้งที่ 1

ต่อมาไม่นาน หมอได้นัดให้เธอมาตรวจอีกครั้ง เพื่อผ่าตัดเอาก้อนเนื้อตัวอย่างไปตรวจ (ยังไม่ตัดเต้านม) ปรากฏว่า ในขณะที่หมอกำลังผ่าตัดอยู่นั้น มีดผ่าตัดอันคมกริบ กลับไม่สามารถกรีดผิวหนังของเธอเข้าไปได้ เธอได้ยินหมอเรียกพยาบาล ให้เอามีดเล่มใหม่มาให้ พร้อมกับพูดว่า... "ผ่าไม่เข้า"... เมื่อเปลี่ยนมีดเล่มใหม่แล้ว ก็ยังไม่สามารถกรีดเข้าอีก จนกระทั่งเล่มที่สาม จึงสามารถผ่าได้ เธอเล่าให้ฟังว่า เธอภาวนา "พุทโธ" อยู่ตลอดเวลา นี้จึงเป็นปาฏิหาริย์ ที่เกิดขึ้นกับเธอเป็นครั้งแรก

🌼 ความอัศจรรย์ครั้งที่ 2

ต่อมา เมื่อทราบผลชัดเจนแล้วว่า เธอเป็นมะเร็งร้ายในระยะแรก เธอจึงตัดสินใจเข้าไปผ่าตัดด่วน ที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี นครราชสีมา ในวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้โทรศัพท์มาแจ้งบุรุษผู้เป็นน้องชาย พร้อมกับขอให้น้องชายภาวนาช่วยเธอด้วย ผู้เป็นน้องชายจึงบอกให้เธอภาวนา เพื่ออุทิศบุญกุศลแก่เจ้ากรรมนายเวร และให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ พ่อแม่ และครูอาจารย์ ขอบุญกุศลทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว จงมาระงับความเจ็บปวดทั้งหลายด้วยเทอญ เธอน้อมรับคำ

ต่อมา ราวบ่ายสามโมง เธอได้เข้าห้องผ่าตัด ซึ่งเป็นเวลานัดแนะกับผู้เป็นน้องชาย ให้ช่วยภาวนาส่งกระแสจิตไปตามที่เธอขอร้อง ขณะที่ตัวเธอเองก็ได้ภาวนา "พุทโธ" อยู่ตลอดเวลา เมื่อพยาบาลนำเครื่องวัดหัวใจ ที่ใช้ในการผ่าตัด แม้เครื่องวัดจะมีกระแสไฟฟ้าเข้าปรกติ แต่ปรากฏว่า เข็มวัดและคลื่นวัดไม่ทำงาน แม้จะเปลี่ยนเครื่องใหม่แล้วก็ตาม แต่มันก็หยุดนิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น พยาบาลและหมอ ต่างสาละวนว่า เกิดอะไรขึ้น พยาบาลเอ่ยปากถามพี่สาวว่า... "ป้าๆ มีของดีของขลังอะไรอยู่ในตัวหรือเปล่า" ... พี่สาวตอบว่า ..."ไม่มีอะไรคุณหมอ"... จนเวลาล่วงเลย คือยานอนหลับออกฤทธิ์ จนไม่รู้สึกตัวแล้ว หมอจึงลงมือผ่าตัดได้ นั่นจึงเป็นปาฏิหาริย์ ที่บังเกิดขึ้นกับเธอเป็นครั้งที่สอง

🌼 ความอัศจรรย์ครั้งที่ 3

ต่อมา เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว หมอให้เธอมาพักผ่อนในห้องพิเศษเหมือนคนไข้ทั่วไป แต่ปรากฏว่า เธอไม่มีอาการเจ็บปวดหรือเป็นไข้ใดๆ หมอมาตรวจมาวัดทุกครั้ง ก็ได้คำตอบว่า ปรกติเหมือนคนทั่วไป ดูหน้าตาก็แจ่มใส กินอาหารได้มาก แผลก็หายเร็วกว่าปรกติ เธอได้ยินหมอพูดกันว่า... "มันเกิดอะไรขึ้น หรือเป็นการผ่าตัดเอาเต้านมออก โดยไม่ได้เป็นเนื้อร้ายหรือไม่"... เนื่องจากหมอที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เอาผลการตรวจมาจากโรงพยาบาลแรก โดยไม่ได้ตรวจซ้ำอีก จึงเกิดความโกลาหลขึ้นเล็กน้อย นี้จึงเป็นปาฏิหาริย์ ครั้งที่สาม
🌼 ความอัศจรรย์ครั้งที่ 4

วันต่อมา เมื่อบุรุษผู้เป็นน้องชาย ได้เดินทางกลับจากกาฬสินธุ์แล้ว ได้ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาล พร้อมกับได้อธิษฐานแผ่กระแสจิตไปตามร่างกาย เธอบอกว่า มีพลังวิ่งไปทั่วร่างของเธอ เธอจึงเกิดความปีติยินดี เพราะกระแสแห่งความเย็น ได้แผ่ซ่านไปทั้งตัวเธอ เธอจึงได้เอ่ยปวารณาตัวว่า หากน้องชายออกบวชเมื่อไร เธอจะขอติดตามไปภาวนาด้วย และจะขอภาวนาไปตลอดชีวิต นี้จึงเป็นปาฏิหาริย์ ที่บังเกิดขึ้นกับเธอเป็นครั้งที่สี่

🌼 ความอัศจรรย์ครั้งที่ 5

ท่านทั้งหลาย ในวันต่อมา เธอเล่าให้ฟังว่า ประมาณช่วงตีสาม เธอได้ลุกขึ้นมาภาวนาบนเตียงคนไข้ นานจนถึงเกือบสว่าง ได้ปรากฏภาพนิมิตขึ้นมาว่า มีผู้หญิงผมยาวมายืนหน้าเศร้าอยู่ข้างเตียง พอคืนต่อมา ขณะที่เธอนั่งภาวนาบนเตียงคนไข้เหมือนเดิม ก็ปรากฏเห็นภาพเด็กหนุ่มมีเลือดเต็มศรีษะ มายืนอยู่ข้างเตียงอีก พร้อมกับเห็นภาพคนนอนตายอยู่ข้างโรงพยาบาลด้วย เธอจึงได้อุทิศแผ่บุญกุศลไปให้ เมื่อมีญาติๆ มาเยี่ยม ต่างก็แปลกใจว่า ทำไมเธอไม่เหมือนคนไข้ แถมยังมีหน้าตาสดชื่นผ่องใส แถมยังได้โปรดพวกวิญญาณอีก นี้จึงเป็นปาฏิหาริย์ ที่บังเกิดขึ้นกับเธอเป็นครั้งที่ห้า

ท่านทั้งหลาย ที่ผู้เขียนนำเอาเรื่องราวนี้ มาเล่าสู่กันฟัง มิใช่จะยกตัวตนผู้ใดขึ้นมา แต่ก็เพื่อให้พวกเราได้ตระหนัก และเชื่อมั่นในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และขอให้เชื่อมั่นในพลานุภาพแห่งคำภาวนา "พุทโธ" นั้น ชั่งยิ่งใหญ่เหลือเกิน ไม่มีสิ่งใดมาเสมอเหมือนได้ และขอให้เชื่อในเรื่องการอุทิศแผ่บุญกุศล ก็ล้วนมีอานิสงส์มาก
สุดท้าย ขอให้เชื่อมั่นว่า "ธรรมาโอสถ" นั้น เป็น "ธรรมาปาฏิหาริย์" ที่สามารถระงับความเจ็บปวดได้จริง นี่คือผลของการเจริญภาวนา "พุทโธ" และการพิจารณาถึงความตาย ตามคำสอนของพระพุทธองค์ และตามคำแนะนำของหลวงพ่อแห่งโคกปราสาท จึงส่งผลอย่างที่ผู้เขียนกล่าวมาแล้ว

...ส่วนความจริงแท้แค่ไหน ขอให้ท่านทั้งหลาย ช่วยกันพิจารณา... หรือจะอ่านเล่นเป็นเพียงนิทานธรรมก็พอ จึงขออนุโมทนา กับผู้ที่ได้อ่านเจอบทความนี้ ทุกท่านเทอญ

ขอเจริญธรรม
ดร.นนต์
11 กุมภาพันธ์ 2555


วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

(035) สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) กับการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๙ ของโลก

  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล


          ท่านทั้งหลาย ผู้เขียนขออัญเชิญพระราชประวัติ ขององค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าแห่งกรุงธนบุรี และยังเป็นองค์ปฐมพระสังฆราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย ซึ่งพระสังฆราชพระองค์นี้ นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ ๒ และโดยเฉพาะการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙ ของโลก หรือที่เรียกว่า "นวมสังคายนาพระไตรปิฎก" ที่บังเกิดขึ้นในผืนแผ่นดินไทย

          หมายเหตุ... ผู้เขียนเรียบเรียงจากบทความที่มีผู้ส่งมาให้ จึงไม่ทราบที่มาของข้อมูลทั้งหมด จึงต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความเดิม มา ณ โอกาสนี้ด้วย ส่วนเนื้อหาหลักทั้งหมดเป็นความจริงตามประวัติศาสตร์ แต่เนื้อหาบางตอน อาจซ่อนปริศนาบางอย่างที่ต่างไปจากความเป็นจริง ซึ่งต้องดูจากญาณในของพระอรหันตเจ้า โดยเฉพาะช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งอาจไม่ตรงกับประวัติศาสตร์หลายประเด็น อันนี้ โปรดพิจารณากันเอาเอง


สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)



"สมเด็จพระสังฆราชสองแผ่นดิน"
สมเด็จพระสังฆราช "องค์ที่สอง" แห่งกรุงธนบุรี
และเป็นพระสังฆราช "องค์แรก" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


         สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า "ศรี" (บางตำราเขียนว่า "สี") พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่า เดิมเป็นเพียง พระอาจารย์ศรี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดพนัญเชิง อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ พระสงฆ์ถูกฆ่า วัดวาอาราม พระไตรปิฎก ถูกเผาทำลายวอดวายจนสิ้นเชิง พระภิกษุสามเณรต่างก็พากันหลบภัยไปอยู่ตามวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด พระอาจารย์ศรีก็ได้หลบภัยสงครามไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ในเมืองนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด

         ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพ ไปปราบก๊กเจ้านครซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงได้อาราธนาพระอาจารย์ศรี ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่(ปัจจุบันคือ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร) เนื่องด้วยทรงคุ้นเคยและรู้จักเกียรติคุณของพระอาจารย์ศรี มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้น พระอาจารย์ดี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ก่อน แต่ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่า พระอาจารย์ดีเคยบอกที่ซ่อนทรัพย์ของผู้อื่นให้แก่พม่าเมื่อเวลาถูกขังอยู่ จึงโปรดให้ถอดออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอาจารย์ศรีขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แทน ในพ.ศ. ๒๓๑๒ นั้นเอง นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี



สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ถ่ายภาพจากจอโทรทัศน์โดย ดร.นนต์


ทรงถูกถอดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

         ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๒๔ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม(วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์) เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง เพราะทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ดังความว่า “ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”

         ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงมาเป็นพระอนุจร (พระธรรมดา) แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช และตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัต เหตุการณ์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) และพระราชาคณะทั้งสองรูปดังกล่าว เป็นพระเถระที่เคร่งครัดมั่นคงในพระธรรมวินัย แม้จะต้องเผชิญกับราชภัยอันใหญ่หลวง ก็มิได้หวั่นไหว นับเป็นพระเกียรติคุณที่สำคัญประการหนึ่ง ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น



สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
ถ่ายภาพจากจอโทรทัศน์โดย ดร.นนต์


ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งที่ ๒

          ครั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนสมณฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งดังเดิมให้แก่ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

          “ทรงพระราชดำริว่า ฝ่ายข้างอาณาจักรได้แต่งตั้งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว ควรจะจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองนั้นให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป จึงดำรัสให้สึกพระวันรัต(ทองอยู่) กับพระรัตนมุนี (แก้ว) ออกเป็นฆราวาส ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน.....ดำรัสให้สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีให้ลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะ เพราะไม่ยอมถวายบังคมนั้น โปรดให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า ให้คืนไปอยู่ครองพระอารามตามเดิม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ดำรัสสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีไปภายหน้า จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามว่าอย่างไรแล้ว พระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม ซึ่งจะเชื่อถือฟังความตามพระราชาคณะอื่นๆ ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้ ด้วยเห็นใจเสียครั้งนี้แล้ว”

          ความในพระราชดำรัสดังปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นที่ทรงเคารพนับถือ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นอันมาก ทั้งเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการที่จะฟื้นฟูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ทรงพระราชดำริ ในอันที่จะทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อเป็นหลักของพระพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักร ยั่งยืนสืบไปชั่วกาลนาน และโดยที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือ และเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าวแล้ว จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) คงจักทรงเป็นกำลังสำคัญ ในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในครั้งรัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎกให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ ตลอดถึงในด้านความประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างที่ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ได้ทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับการพระศาสนาด้านต่างๆ ไปยังสมเด็จพระสังฆราชมากกว่า ๕๐ เรื่อง สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ ก็ได้ถวายพระพรแก้พระราชปุจฉา เป็นที่ต้องตามพระราชประสงค์ทุกประการ สิ่งแสดงถึงพระราชศรัทธาเคารพนับถือใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงมีต่อ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ได้โปรดเกล้าฯให้รื้อตำหนักทองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไปปลูกเป็นกุฎีถวาย ณ วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆัง) แต่น่าเสียดายที่ตำหนักทองนี้ถูกไฟไหม้เสียเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓



พระกรณียกิจสำคัญ : การสังคายนาพระไตรปิฎก

          เป็นที่ประจักษ์ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระราชกรณียกิจประการแรกที่ทรงกระทำก็คือ การจัดสังฆมณฑลและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ที่เสื่อมทรุดมาแต่การจลาจลวุ่นวายของบ้านเมือง แต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จนถึงครั้งกรุงธนบุรี ในด้านสังฆมณฑลนั้นก็ทรงกำจัดอลัชชีภิกษุ และทรงตรากฎพระสงฆ์ขึ้น เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรประพฤตินอกพระธรรมวินัย และมีความประพฤติกวดขันในพระธรรมวินัยยิ่งขึ้น

           ในด้านทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ก็โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระไตรปิฎกบรรดาฉบับที่มีทั้งที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานสร้างไว้ให้ครบถ้วน ประดิษฐานไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม พร้อมทั้งโปรดให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก ถวายพระสงฆ์สำหรับเล่าเรียนไว้ทุกๆ พระอารามหลวง สิ้นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปเป็นอันมาก ต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า พระไตรปิฎกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อต้นรัชกาลนั้น ยังบกพร่องตกหล่นอยู่เป็นอันมาก ทั้งพยัญชนะและเนื้อความ อันเนื่องมาจากความวิปลาสตกหล่นของต้นฉบับเดิม จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์ประชุมสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้น

           เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เกิดขึ้นในปีที่ ๖ แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนับเป็น การสังคายนาครั้งที่ ๒ ในราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๓๓๑) (ครั้งแรกทำที่นครเชียงใหม่สมัยพระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา)และ นับเป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ (ครั้งที่ ๒ ทำในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐) ทั้งนี้ได้มีการอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับ ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ทำการสังคายนาที่ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้

          สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก
          พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
          พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส
          พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก

  การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา๕ เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่ แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น ได้มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ อย่างละเอียด ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมากล่าวในที่นี้ ตามความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

          …..ในปีวอก สัมฤทธิศก นั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรม อันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้เป็นค่าจ้างลานจารึกพระไตรปิฎกลงลาน แต่บรรดามีฉบับในที่ใดๆ ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระแปลงออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นไว้ในตู้ ณ หอพระมนเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียน ทุกๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา


         จึงจมื่นไวยวรนารถกราบทูลว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้ อักขระบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา หาผู้จะทำนุบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้ ครั้นได้ทรงสดับจึงทรงพระปรารภว่าพระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้ เมื่อและผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระศาสนากระไรได้ อนึ่งท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนักถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้วเห็นว่าพระปริยัติศาสนา และปฏิบัติศาสนาและปฏิเสธศาสนาจะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนักสัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งบ่มิได้ในอนาคตภายหน้า ควรจะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการเป็นประโยชน์แก่เทพดามนุษย์ทั้งปวงจึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี

          ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นประธาน ในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญ ๑๐๐ รูป มารับพระราชทานฉัน ครั้นเสร็จสังฆภัตกิจแล้วพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่าพระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด

          จึงสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกันถวายพระพรว่า พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมาช้านานแล้ว หากษัตริย์พระองค์ใดจะทำนุบำรุงให้เป็นศาสนูปถัมภกมิได้ แต่กำลังอาตมภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทำนุบำรุงอยู่ แต่เห็นจะไม่สำเร็จ และกาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพระพุทธองค์ผู้ทรงทศอรหาทิคุณอันประเสริฐ เมื่อพระองค์บรรทมเหนือพระปรินิพพานมัญจพุทธอาสน์ เป็นอนุฏฐานะไสยาสน์ ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ ในสาลวโนทยานของพระเจ้ามลราช ใกล้กรุงกุสินารานคร มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

          .....ดูกรสงฆ์ทั้งปวง พระธรรมวินัยอันใดทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นจะเป็นครูสั่งสอนท่าน และสรรพสัตว์ทั้งปวงต่างองค์พระตถาคตสืบไป พระองค์ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้อาศัยพระปริยัติธรรมฉะนี้แล้ว ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน.....



สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๑

          จำเดิมแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านิพพานถวายพระเพลิงแล้วได้ ๗ วัน พระมหากัสสปเถรเจ้าระลึกถึงคำพระสุภัททภิกษุ ว่ากล่าวติเตียนพระบรมศาสดาเป็นมูลเหตุ จึงดำริการจะทำสังคายนา เลือกสรรพระภิกษุทั้งหลาย ล้วนพระอรหันต์ทรงพระจตุปฏิสัมภิทาญาณ กับพระอานนท์เป็นเสกขบุคคลพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้พระอรหัตในราตรีรุ่งขึ้นวันจะสังคายนา พอครบ ๕๐๐ พระองค์ มีพระเจ้าอชาตศัตรูราชเป็นศาสนูปถัมภก ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในพระมณฑปแถบถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ เขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร ๗ เดือน จึงสำเร็จการปฐมสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒

           ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุชาววัชชีคามเป็นอลัชชี สำแดงวัตถุ ๑๐ ประการ กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ และพระมหาเถรขีณาสพ ๘ พระองค์ มีพระยศเถรเป็นต้น พระเรวัตตเถรเป็นปริโยสาน ชำระทศวัตถุอธิกรณ์๑๐ ประการ ให้ระงับยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ แล้วเลือกสรรพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๗๐๐ พระองค์ มีพระสัพพกามีเถรเจ้าเป็นประธาน ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในวาลุการามมหาวิหารใกล้กรุงเวสาลี พระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๘ เดือนจึงสำเร็จการทุติยสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓

          ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๑๘ ปี ครั้งนั้นเหล่าเดียรถีย์เข้าปลอมบวชในพระศาสนา จึงพระโมคคลีบุตรดิศเถรยังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้เรียนรู้ในพุทธสมัย แล้วชำระสึกเดียรถีย์เสีย ๖๐,๐๐๐ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ แล้วพระโมคคลีบุตรดิศเถรจึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๑,๐๐๐ พระองค์ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในอโสการามวิหาร ใกล้กรุงปาตลีบุตรมหานคร พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๙ เดือน จึงสำเร็จตติยสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๔

          ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๓๘ ปีจึงพระมหินเถรเจ้าออกไปลังกาทวีป บวชกุลบุตรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม คือหยั่งรากพระพุทธศาสนาลงในลังกาแล้ว พระขีณาสพทั้ง ๓๘ พระองค์มีพระมหินทรเถรและพระอริฏฐเถรเป็นประธาน กับพระสงฆ์ซึ่งทรงพระปริยัติธรรม ๑,๑๐๐ รูปทำสังคายนาพระไตรปิฎก ในมณฑปถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี พระเจ้าเทวานัมปิยดิศเป็นศาสนูปถัมภก ๑๐ เดือน จึงสำเร็จการจตุตถสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๕

          ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๔๓๓ ปี ครั้งนั้นพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีปพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมลง เพราะพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกให้ขึ้นปากเจนใจนั้นเบาบางลงกว่าแต่ก่อนจึงเลือกพระอรหันต์อันทรงปฏิสัมภิทาญาณ และพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงพระปริยัติธรรมมากกว่า ๑,๐๐๐ ประชุมกัน ในมหาวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยเป็นศาสนูปถัมภก ทำมณฑปถวายให้ทำการสังคายนา คือจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน ทั้งพระบาลีและอรรถกถาเป็นสิงหฬภาษา ปี ๑ จึงสำเร็จการปัญจมสังคายนา


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖

             ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๙๕๖ ปี จึงพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าออกไปแต่ชมพูทวีป แปลพระไตรปิฎกอันเป็นสิงหฬภาษาออกเป็นมคธภาษา แล้วจารึกลงในใบลานใหม่ในโลหปราสาทเมืองอนุราธบุรีพระเจ้ามหานามเป็นศาสนูปถัมภก ปี ๑ จึงสำเร็จ นับเนื่องเข้าในฉัฐมสังคายนา



สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๗

             ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๑,๕๘๗ ปี ครั้งนั้นพระเจ้าปรากรมพาหุราชได้เสวยราชสมบัติในลังกาทวีป ย้ายพระนครจากอนุราธบุรีมาตั้งอยู่เมืองปุรัตถิมหานคร จึงพระกัสสปเถรเจ้า กับพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงธรรมวินัย ประชุมกันชำระพระไตรปิฎกชึ่งเป็นสิงหฬภาษาบ้าง มคธบ้าง ปะปนกันอยู่ ให้แปลงแปลออกเป็นมคธภาษาทั้งสิ้น แล้วจารึกลงลานใหม่ พระเจ้าปรากรมพาหุราชเป็นศาสนูปถัมภก ปี ๑ จึงสำเร็จบริบูรณ์ นับเนื่องเข้าในสัตตมสังคายนา

          เบื้องหน้าแต่นั้นมา จึงพระเจ้าธรรมานุรุธผู้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองอริมัตถบุรี คือเมืองภุกาม ออกไปจำลองพระไตรปิฎกในลังกาทวีปเชิญลงสำเภามายังชมพูทวีปนี้ แต่นั้นมาพระปริยัติธรรมจึงแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศทั้งปวง บรรดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ นับถือพระรัตนตรัยนั้น ได้จำลองต่อๆ กันไป เปลี่ยนแปลงอักษรตามประเทศภาษาของตนๆ ก็ผิดเพี้ยนวิปลาสไปบ้าง ทุกๆ พระคัมภีร์ที่มากบ้าง ที่น้อยบ้าง


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘

             ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๐๒๐ ปี จึงพระธรรมทินเถรเจ้าผู้เป็นมหาเถรอยู่ ณ เมืองนพีสีนคร คือเมืองเชียงใหม่ พิจารณาเห็นว่าพระไตรปิฎกพิรุธมากทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกา จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราช ซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ว่า จะชำระพระปริยัติธรรมให้บริบูรณ์ พระเจ้าสิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชจึงให้กระทำ พระมณฑปในมหาโพธารามวิหารในพระนคร พระธรรมทินเถรจึงเลือกพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกมากกว่า ๑๐๐ ประชุมพร้อมกับในพระมณฑปนั้น กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชเป็นศาสนูปถัมภก ปี ๑ จึงสำเร็จนับเนื่องเข้าในอัฏฐมสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง

             เบื้องหน้าแต่นั้นมา พระเถรานุเถรในชมพูทวีปได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก และสร้างสืบต่อกันมา และท้าวพระยาเศรษฐีคฤหบดีมีศรัทธาสร้างไว้ในประเทศต่างๆ คือเมืองไทย เมืองลาว เมืองเขมร เมืองพม่า เมืองมอญ เป็นอักษรส่ำสมผิดเพี้ยนกันอยู่เป็นอันมาก หาท้าวพระยาและสมณะผู้ใดที่จะศรัทธา สามารถอาจชำระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้


สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙

          ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๓๐๐ ปีเศษแล้ว บรรดาเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง ก็เกิดการยุทธสงครามแก่กันถึงพินาศฉิบหายด้วยภัยแห่งปัจจามิตร มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามพระไตรปิฎกก็สาบสูญสิ้นไป จนถึงกรุงศรีอยุธยาเก่าก็ถึงแก่กาลพินาศแตกทำลายด้วยภัยพม่าข้าศึก พระไตรปิฎกและพระเจดียสถานทั้งปวง ก็เป็นอันตรายสาบสูญไป สมณะผู้รักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้น ก็พลัดพรากล้มตายเป็นอันมาก หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนักป้องกันข้าศึกศัตรูมิได้ เหตุฉะนี้พระไตรปิฎกจึงมิได้บริบูรณ์ เสื่อมสูญร่วงโรยมาจนเท่ากาลทุกวันนี้

          พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดาร ดังนั้น จึงดำรัสว่า ครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักร ให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้ ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น เป็นพนักงานโยมๆ จะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้ พระราชาคณะทั้งปวงรับสาธุ แล้วถวายพระพรว่า อาตมภาพทั้งปวงมีสติปัญญาน้อยนัก ไม่เหมือนท่านแต่ก่อน แต่จะอุตส่าห์ชำระพระปริยัติธรรม สนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาครั้งนี้ ก็นับได้ชื่อว่า นวมสังคายนา คำรบ ๙ ครั้ง จะยังพระปริยัติศาสนาให้ถาวรวัฒนายืนยาวไปในอนาคตสมัย สิ้นกาลช้านาน แล้วถวายพระพรลาออกมาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางว้าใหญ่ จึงสมเด็จพระสังฆราชให้เลือกสรร พระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับ ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกในเวลานั้น จัดได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ที่จะทำการชำระพระไตรปิฎก

         จึงมีพระราชดำรัสให้จัดการที่จะทำสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม เหตุประดิษฐานอยู่หว่างพระราชวังทั้ง ๒ และครั้งนั้นจึงพระราชทานนามใหม่ให้ชื่อวัดพระศรีสรรเพ็ชญดาราม แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ แจกจ่ายเกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งพระราชวังหลวง พระราชวังบวรฯ พระราชวังหลัง ให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งชำระพระไตรปิฎก ทั้งเช้าทั้งเพล เวลาละ ๔๓๖ สำหรับทั้งคาวหวาน พระราชทานเป็นเงินตรา ค่าขาทนียโภชนียาหารสำรับคู่ละบาท

         ครั้น ณ วันกัตติกปุรณมี เพ็ญเดือน ๑๒ ในป็วอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐ พระพุทธศักราช ๒๓๓๑ พรรษา เป็นพุธวาร ศุกรปักษ์ดฤถี เวลาบ่าย ๓ โมง มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน ในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพ็ชญดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยยศ บริวารยศ พร้อมด้วยเครื่องสูง และปี่กลองชนะแห่ออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม เสด็จ ณ พระอุโบสถทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วอาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านคำประกาศเทวดาในท่ามกลางสงฆสมาคม ขออานุภาพเทพยดาเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภนาการให้สำเร็จกิจมหาสังคายนา แล้วให้แบ่งพระสงฆ์เป็น ๔ กอง
      
         สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก กอง ๑
         พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก กอง ๑
         พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส กอง ๑
         และครั้งนั้นพระธรรมไตรโลกเป็นโทษอยู่ มิได้เข้าในสังคายนา พระธรรมไตรโลกจึงมาอ้อนวอนสมเด็จพระสังฆราช ขอเข้าช่วยชำระพระไตรปิฎกด้วย ก็ได้เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก กอง ๑
         และพระสงฆ์ทั้ง ๔ กองนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ พระอุโบสถกอง ๑ อยู่ ณ พระวิหารกอง ๑ อยู่ ณ พระมณฑปกอง ๑ อยู่ ณ การเปรียญกอง ๑ ทรงถวายปากไก่หมึกหรดาลครบทุกองค์

        
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จพระราชดำเนินออกไป ณ พระอารามทุกๆ วัน วันละ ๒ เวลา เวลาเช้าทรงประเคนสำรับประณีตขาทนียโภชนียาหารแก่พระสงฆ์ ให้ฉัน ณ พระระเบียงโดยรอบ เวลาเย็นทรงถวายอัฏฐบานธูปเทียนเป็นนิตย์ทุกวัน และพระสงฆ์ทั้งราชบัณฑิตประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติ สอบสวนพระบาลีกับอรรถกถาที่ผิดเพี้ยนวิปลาส ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ทุกๆ พระคัมภีร์ใหญ่น้อยทั่วทั้งสิ้น และที่ใดสงสัยเคลือบแคลงก็ปรึกษาไต่ถามพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งเป็นมหาเถรให้วิสัชนาตัดสินที่ผิดและชอบ
 

          การชำระพระไตรปิฎกตั้งแต่ ณ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก มาจนถึงวันเพ็ญเดือน ๕ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ พอครบ ๕ เดือนก็สำเร็จการสังคายนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายพระราชทรัพย์ เป็นมูลค่าจ้างให้ช่างจานคฤหัสถ์และพระสงฆ์สามเณร จารึกพระไตรปิฎก ซึ่งชำระบริสุทธิ์แล้วนั้นลงลานใหญ่สำเร็จแล้วให้ปิดทองทึบ ทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ มีสลากงาแกะเป็นลวดลายเขียนอักษรด้วยน้ำหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุกๆ พระคัมภีร์
      
      
         อนึ่ง เมื่อสำเร็จการสังคายนานั้น ทรงถวายไตรจีวรบริขารภัณฑ์แก่พระสงฆ์ทั้ง ๒๑๘ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ล้วนประณีตทุกสิ่งเป็นมหามหกรรมฉลองพระไตรปิฎก และพระราชทานรางวัลเสื้อผ้าแก่พระยาธรรมปโรหิต พระยาพจนาพิมล และราชบัณฑิตทั้ง ๓๒ คนนั้นด้วย แล้วทรงสุวรรณภิงคารหล่อหลั่งทักษิโณทกธารา อุทิศแผ่ผลพระราชกุศลศาสนูปถัมภกกิจ ไปถึงเทพยดามนุษย์สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วอนันตโลกธาตุ เป็นปัตตานุปทานบุญกริยาวัตถุอันยิ่งเพื่อประโยชน์แก่พระบรมโพธิสัพพัญญุตญาณ
 
    
         ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว ซึ่งให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศพระราชยานต่างๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎก มีเครื่องเล่นเป็นอเนกนานานุประการ เป็นมหรสพแก่ตาประชาราษฎรทั้งปวง แล้วเชิญพระคัมภีร์ปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมนเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระราชวัง แล้วให้มีงานมหรสพสมโภชพระไตรปิฎกณ หอพระมนเทียรธรรม ครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย…..


  จากเรื่องราวของการสังคายนาครั้งนี้ กล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการ นับแต่ทรงเป็นประธานสงฆ์ ถวายคำแนะนำแด่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ให้ทรงตระหนักถึงความสำคัญ ของการธำรงรักษาพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิริยะอุตสาหะ จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น และในการทำสังคายนา สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)ก็ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ โดยทรงเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การทำสังคายนาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สมพระราชประสงค์ทุกประการ โดยการอำนวยการของสมเด็จพระสังฆราช(ศรี) โดยแท้ นับเป็นพระเกียรติประวัติอีกประการหนึ่ง ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

          พระไตรปิฎกฉบับสังคายนาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นี้เอง ที่ได้เป็นแม่ฉบับสำหรับตรวจสอบในการจัดพิมพ์เป็นอักษรไทยครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๓๙ เล่ม ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเพิ่มเติมจนครบบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๔๕ เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ดังที่ใช้เป็นแบบอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน


พระกรณียกิจพิเศษ

          สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ อีก ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นทรงผนวชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับอยู่วัดสมอราย(คือวัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) เพื่อทรงศึกษาสมณกิจในสำนัก พระปัญญาวิสาลเถร(นาค) ตลอด ๑ พรรษา แล้วจึงทรงลาผนวช


พระอวสานกาล

         สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเวลา ๑๒ ปี และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อเดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ พุทธศักราช ๒๓๓๗ ในรัชกาลที่ ๑ รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑๒ ปี เช่นกัน ทรงมีพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฏชัด ในกฎพระสงฆ์กล่าวถึงพระองค์ว่า 'สมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่า' จึงน่าจะมีพระชนมายุสูงไม่น้อยกว่า ๘๐ พรรษา