หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

(10) ทัศนศิลป์เพื่อชีวิต : กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์




อาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
ณ ศิลปสถาน โชคชัย ตักโพธิ์ วิถี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี (มกราคม 2553)


ทัศนศิลป์เพื่อชีวิต
กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 
ถ.สุรนารายณ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000


ความนำของผู้เขียน

ท่านทั้งหลาย บทความที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คัดย่อมาจากผลงานวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาเอกของผู้เขียน หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต ศศ.ด. (ศิลปวัฒนธรรมวิจัย) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปี 2554 เรื่อง “ทัศนศิลป์เพื่อชีวิต : กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน” โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ 1) เพื่อศึกษากระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน ผ่านผลงานทัศนศิลป์เพื่อชีวิต ในบริบทของท้องถิ่นอีสาน รัฐชาติ และโลกาภิวัตน์ ที่มีผลต่อการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน 2) เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกศิลปินและกลุ่มศิลปิน ที่มีผลต่อกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน
โดยมีขอบเขตของการวิจัยคือ ผู้วิจัยเลือกศึกษาผลงานศิลปะเพื่อชีวิตของศิลปินอีสานหลักๆ จำนวน 7 คน ที่มีแนวทางชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ โดยเลือกตัวแทนศิลปินจากทั้งผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านศิลปะ และผู้ไม่เคยผ่านสถาบันการศึกษาศิลปะใดๆเลย แต่ทุกคนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนศิลปะเพื่อชีวิต ในนามตัวแทนของศิลปินอีสาน ได้แก่ ทวี รัชนีกร  โชคชัย ตักโพธิ์  สนาม จันทร์เกาะ  สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์  สุรพล ปัญญาวชิระ  เกียรติการุณ ทองพรมราช  และวัฒนา ป้อมชัย
การวิจัยเรื่องนี้ ใช้แนวคิดหลักที่สำคัญคือ แนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ (Identity) โดยได้เลือกพิจารณาในความหมายของเกียร์ตซ์ (Clifford Geertz) คือ เป็นการแปรเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนตามบริบทจึงมีไม่รู้จบ อัตลักษณ์จึงเป็นคุณสมบัติที่คนหยิบยืมสร้างขึ้นมาตามสถานการณ์เฉพาะหน้า นอกจากนั้น ยังได้เลือกแนวคิด “อัตลักษณ์” ในแนวคิดหลังสมัยใหม่ เพราะเป็นการมองปัจเจกสภาพในฐานะของอัตลักษณ์ ความเป็นปัจเจกจึงถูกเน้นในฐานะที่เป็น “กระบวนการทางสังคมของการสร้างอัตลักษณ์” มากกว่าแก่นแกนของคุณสมบัติบางอย่างที่มีลักษณะตายตัว ซึ่งจากแนวคิดหลักดังกล่าว ผู้วิจัยเพียงนำมาเป็นไฟส่องทาง เพื่ออธิบายให้เห็นถึงกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของศิลปินอีสาน ซึ่งมีลักษณะที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมแบบบูรณาการ ภายใต้บริบทของความเป็นท้องถิ่นอีสาน รัฐชาติ และโลกาภิวัตน์ ที่มีลักษณะแบบซ้อนทับกันเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของผลงานวิทยานิพนธ์นั้น ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนของโชคชัย ตักโพธ์ ก็ยังมีอีกมาก แต่ผู้เขียนไม่สามารถนำมาให้อ่านได้ทั้งหมด ดังนั้น ในบทความต่อไปนี้ จึงเป็นผลการศึกษาเพียงบางส่วน เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโชคชัย ตักโพธิ์ เท่านั้น และขอสรุปเฉพาะเนื้อหาที่สำคัญเพียงบางตอน ดังต่อไปนี้  


บทนำ

         โชคชัย ตักโพธิ์ เป็นศิลปินอีสานที่ผ่านการศึกษาศิลปะจากกรุงเทพฯ และนับเป็นคุรุศิลปินเพื่อสังคมชาวอีสานอีกผู้หนึ่ง ที่มีความสำคัญและมีบทบาทสูง ในการนำเอาศิลปะไปเป็นแนวทางในการร่วมต่อสู้กับเผด็จการ ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 25519 ซึ่งนับเป็นผู้นำร่วมในกระบวนการต่อสู้ในส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ที่สำคัญอีกผู้หนึ่งของประเทศไทย จนต่อมาเขาได้รับรางวัลมนัส เศียรสิงห์ แดง ครั้งที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2549 เป็นศิลปินเกียรติยศทัศนศิลป์ดีเด่น ทางด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ เช่นเดียวกันกับทวี รัชนีกร
   จึงเห็นได้ว่า ตัวตนของโชคชัย ตักโพธิ์ นอกจากจะเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในส่วนกลาง โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ผลงานในช่วงเวลาต่อมา นับจากปี พ.ศ. 2524 เขาเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยได้รับอิทธิพลย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เขาเคยเป็นนักเรียนพุทธศาสนาในวันเสาร์และอาทิตย์ รวมทั้งเคยไปศึกษาธรรมที่วัดสวนโมกข์และวัดอุโมงค์มาก่อน และการได้ศึกษาธรรมที่วัดหนองป่าพงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จากความเชื่อในพุทธศาสนา และการเชื่อมโยงมาสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะของโชคชัย ตักโพธิ์ นั้น เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะแนวสากลแบบตะวันออก แต่มิใช่การยึดติดอยู่กับรูปแบบของจีนหรือญี่ปุ่น เขาพยายามเชื่อมโยงกับแนวคิดของศาสนาพุทธแบบหินยานที่เป็นของไทย ซึ่งเขามองว่า น่าจะเป็นเซนแบบเถรวาทหรือแบบท้องถิ่นมากกว่า จึงพยายามโยงแนวคิดนี้เข้ามา เพื่อให้เป็นตะวันออกแบบไทย นอกจากจะได้สร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับศาสนาดังกล่าวแล้ว เขายังได้เชื่อมโยงกับนิทานปรัมปราของอีสาน ที่เขาเรียกว่า ปรัมปราซ้อนคติ เช่น ผลงานชุด กาเหยียบช้าง ในปี พ.ศ. 2540 โดยเชื่อมโยงกับนิทานสมัยอาณาจักรโคตรบูรณ์ เพื่อเป็นการอธิบายถึงยุคฟองสบู่แตกแบบซ้อนคติ และผลงานในช่วงปัจจุบัน โชคชัย ตักโพธิ์ ได้เลือกภาพผนังถ้ำในอีสาน มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสื่อให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างพอเพียงในโลกปัจจุบัน
         จึงกล่าวได้ว่า ผลงานศิลปะของโชคชัย ตักโพธิ์ นั้น ในบางช่วงเวลาเป็นผลงานแนวสะท้อนสังคมแบบเข้มข้น หลังจากนั้น ผลงานส่วนใหญ่มักมีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อแบบตะวันออก ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา ภาพผนังถ้ำ นิทานปรัมปรา ซึ่งล้วนผูกพันอยู่กับความเป็นอีสาน แต่แสดงรูปแบบของศิลปะตามอย่างตะวันตก ผลงานของเขาจึงมีนัยสำคัญว่า ความคิดความเชื่อแบบท้องถิ่นอีสาน มันจะผสมผสานกับความเป็นโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร


โชคชัย ตักโพธิ์. คัตเอาท์การเมือง. โปสเตอร์. ปี 2518 (ที่มา : สถาบันปรีดี พนมยงค์. 2546: 28)



โชคชัย ตักโพธิ์. คัตเอาท์การเมือง. โปสเตอร์. ปี 2518 (ที่มา : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย. 2537: 35)



โชคชัย ตักโพธิ์. ก่อน-หลัง ตุลาคม 2516. สีน้ำมันบนผ้าใบ. 56x38 ซ.ม. ปี 2517 
(ที่มา : สถาบันปรีดี พนมยงค์. 2546: 89)



ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์

        1. ศิลปินเพื่อชีวิต : อัตลักษณ์ภายใต้ความเป็นท้องถิ่นอีสาน

            หากจะอธิบายกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์ ในบริบทความเป็นท้องถิ่นอีสาน พบว่า จากพื้นเพเดิมของเขาคือเป็นคนอีสานโดยกำเนิด ดังนั้น ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีแบบดั้งเดิมของอีสาน ก็ได้หลั่งไหลเข้าสู่มโนทัศนศิลป์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวศิลปะถ้ำดั้งเดิมที่มีอยู่ในภาคอีสาน เช่น ผาแต้ม ภูผาพยนต์ และอีกหลายๆ แห่ง นิทานปรัมปราพื้นบ้านอีสาน ที่ผูกติดกับแนวคิดและคำสอนของพุทธศาสนา เช่น เรื่องกาเหยียบช้าง และเรื่องราวปริศนาธรรมต่างๆ กลายเป็นวัตถุดิบทางความคิด ให้เขาถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ ที่ต้องอาศัยการตีความหลักธรรม-วลีธรรม เชื่อมโยงกับเนื้อหาวิถีชีวิตของตัวเองและสังคมอย่างท้าทาย ดังนั้น หากจะอธิบายอัตลักษณ์ สามารถอธิบายได้ว่า ปัจเจกภาพในฐานะอัตลักษณ์ของเขา ได้ถูกสร้างด้วยกระบวนการทางสังคมด้วยความเป็นท้องถิ่นอีสาน ที่ทับซ้อนกับเทคนิควิธีการแบบสมัยใหม่เป็นผู้หยิบยื่นให้ อย่างไรก็ตาม ผลงานทัศนศิลป์ของเขาในรูปแบบนี้ กลับแสดงลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า ศิลปะธรรมชาติสื่อนัยวิถีชีวิต และ ศิลปะอิงปริศนาธรรม ที่เป็นแนวศิลปะในช่วงปัจจุบัน


โชคชัย ตักโพธิ์. ลูกยางนา หน้าคน. สีน้ำบนกระดาษ. 55x76 ซ.ม. ปี 2548 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)



โชคชัย ตักโพธิ์. ผาพยนต์. สีน้ำบนกระดาษ. 55x76 ซ.ม. ปี 2549 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)



โชคชัย ตักโพธิ์. กาเหยียบช้าง. วาดเส้นบนกระดาษ. 38x56 ซ.ม. ปี 2540 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)


2. ศิลปินเพื่อชีวิต : อัตลักษณ์ภายใต้รัฐชาติไทย

           จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยทางด้านการเมืองมีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์เพื่อชีวิตของโชคชัย ตักโพธิ์ มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงยุค 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ได้ผลักดันให้เขากลายเป็น “ศิลปินเพื่อชีวิต” เต็มตัว เป็นศิลปิน “เพื่อทางเลือก” ที่สร้างสรรค์ผลงานออกมา “เพื่อขบถ” ซึ่งไม่เหมือนกับศิลปินกลุ่มกระแสหลัก หรือศิลปะตามกระแสทุนนิยมตะวันตกที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในขณะนั้น ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว นับเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการของรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ดังนั้น ความเป็นรัฐชาติไทย จึงเป็นผู้หยิบยื่นความเป็นศิลปินเพื่อชีวิตให้กับเขานั่นเอง 
           อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์นั้นสงบลง กอปรกับเขาได้ไปทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ภายใต้รัฐชาติของไทย ด้วยภาระหน้าที่ในความเป็นครู และกฎระเบียบทางราชการที่ผูกรัดข้าราชการให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และความห่างไกลจากเมืองหลวง ได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาต้องเปลี่ยนวิถีการทำงาน จากศิลปะที่มีเนื้อหาทางการเมืองร้อนแรง ไปสู่การสร้างผลงานที่ผ่อนคลายเนื้อหาลงไปมาก แม้จะมีผลงานที่สะท้อนสังคมอยู่บ้างในภายหลัง แต่ก็เป็นเพียงการหยิบยืมเนื้อหาทางสังคมมาสอดแทรกในรูปแบบศิลปะ ที่เขาพยายามทดลองตามหลักการปฏิบัติธรรมของเขา ฉะนั้น เนื้อหาทางการเมืองจึงเบาลงตามสภาวการณ์ของหน้าที่การงาน และสภาวการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายลงในปัจจุบัน
          ดังนั้น จึงสามารถอธิบายได้ว่า ปัจเจกสภาพในฐานะของอัตลักษณ์ ความเป็นปัจเจกจึงถูกเน้นในฐานะที่เป็น “กระบวนการทางสังคมของการสร้างอัตลักษณ์” มากกว่าแก่นแกนของคุณสมบัติบางอย่างที่มีลักษณะตายตัว กล่าวคือ เมื่อโชคชัย ตักโพธิ์ อยู่ในสภาวการณ์ของความรุนแรงทางการเมืองดังเช่นช่วง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ผลงานของเขาในช่วงเวลานั้น จึงเป็นศิลปะเพื่อชีวิตที่เข้มข้น ศิลปะที่เกิดจากแรงบีบคั้น แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ความมีอิสระในทางความคิดมีมากขึ้น ผลงานศิลปะของเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรูปแบบในการแสดงออก ไปสู่ศิลปะในรูปแบบธรรมชาติสื่อนัยวิถีชีวิต และอิงปริศนาธรรมในที่สุด นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า อัตลักษณ์ของเขาไม่ได้มีลักษณะตายตัว แต่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การเมืองที่ถูกสร้างด้วยเงื่อนไขของรัฐชาติไทยนั่นเอง


โชคชัย ตักโพธิ์. ไม้ค้ำ “คนชายแดน” สื่อผสม. ขนาดความสูง 180 ซ.ม. ปี 2537. 
(ที่มา : แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย. 2537: 158)



โชคชัย ตักโพธิ์. รูปทรงไข่ใบหน้ากาล ปืน จอบขุดดิน จุดนั้น. สื่อผสม.  ขนาด 82x64, 84x61, 86x62 ซ.ม. ปี 2541 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)



ภาพประกอบ 40  โชคชัย ตักโพธิ์. ท้องทุ่ง เมล็ดข้าว. สื่อผสม. 83.5x303 ซ.ม. ปี 2541 (ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)


3. ศิลปะสะท้อนสังคม : อัตลักษณ์ภายใต้โลกาภิวัตน์

          ความเป็นพื้นที่แห่งโลกสมัยใหม่ ได้ดึงโชคชัย ตักโพธิ์ เข้าไปสู่การเรียนรู้ศิลปะตะวันตกที่ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงเวลาที่เขาเป็นนักศึกษา ดังนั้น การได้รับอิทธิพลทั้งทางด้านแนวความคิด รูปแบบ และกลวิธีในการสร้างภาพ จึงส่งผลมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ของเขาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะการหยิบยืมเอารูปแบบศิลปะจากลัทธิต่างๆ เช่น ลัทธิสำแดงอารมณ์ และลัทธิอื่นๆ โดยเฉพาะผลงานของเอ็ดวาร์ด มุงค์ เขาได้นำไปโยงกับผลงานของเขาในชุด “ใบหน้า” และโยงชื่อกลุ่มสะพาน ไปดัดแปลงเป็นผลงานชุด “สะพานพุทธ” และในช่วงก่อนและหลังแหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เขาได้รับอิทธิพลศิลปะแนวเพื่อชีวิตของเอ็ดวาร์ด มุงค์ จากภาพชื่อ “เสียงกู่ร้อง” และอีกหลายๆศิลปิน เป็นต้น รวมทั้งการได้รับอิทธิพลจากศิลปินไทย โดยเฉพาะผลงานของกมล ทัศนาญชลี และการได้ไปศึกษางานในต่างประเทศ ก็ล้วนเป็นปัจจัยนำไปสู่ความพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้มีรูปแบบเป็นสากลนั่นเอง
        นอกจากนั้น แนวคิดปรัชญาของชาวตะวันตกและชาวตะวันออก ที่หลั่งไหลมาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งอิทธิพลต่อแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานของโชคชัย ตักโพธิ์ ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการที่เขาพยายามตีความคำว่า “ชีวรูป” ซึ่งมาจากคำว่า “ชีววิทยา” ของโจอัน มิโร และพยายามนำไปเชื่อมโยงกับแนวคิดปรัชญาของชาวตะวันออกคือ คำว่า “ชีวาตมัน” ของฮินดู-พราหมณ์ และตีความ “ชีวาตมัน” สอดคล้องกับคำ “พีช-อาลัยวิญญาณ” ของพุทธมหายาน ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงออกเกี่ยวกับ “ความรันทด” ของผู้คนในสังคม ดังจะเห็นได้ในผลงานของเขาช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้น จึงนับได้ว่า เป็นการเชื่อมโยงความเป็นตะวันตกเข้ากับความเป็นตะวันออก ต่อมา เมื่อเขาได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี หลักปรัชญาของ “พุทธเถรวาท” จึงได้ซึมซับเป็นเนื้อเดียวกับวิถีการดำเนินชีวิตของเขา หลัก “สมาธิ” และผลแห่ง “จิต” ผลจากการปฏิบัติธรรม จากสภาวธรรมก็ได้เชื่อมโยงไปสู่สภาวศิลปะของเขา ซึ่งมันแสดงนัยยะแบบซ้อนมิติ ที่ถือเป็น “อัตลักษณะ” เฉพาะตัวของโชคชัยมากที่สุด
        ดังนั้น หากอธิบายอัตลักษณ์ของโชคชัย ตักโพธิ์ จากกระแสอิทธิพลดังกล่าว สามารถอธิบายตามแนวคิดของฮอลล์ (Stuart Hall) ที่ได้เสนอแนวคิดที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างภาพตัวแทนและอัตลักษณ์ เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นเขา ความเป็นเรา ฉะนั้น “ภาพเขียน” ของโชคชัย ตักโพธิ์ ที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าว ก็อาจเป็นการสร้างความหมายภาพตัวแทนและอัตลักษณ์บางประการ กล่าวคือ เขาพยายามสร้างภาพตัวแทนของเขาด้วยความเป็นคนตะวันออกด้วยเนื้อหาของเขาเอง ในขณะเดียวกันเขาก็สร้างภาพตัวแทนความเป็นตะวันตก ด้วยรูปแบบศิลปะสมัยใหม่ของชาวตะวันตก ในลักษณะแบบบูรณาการนั่นเอง
         อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของโชคชัย ตักโพธิ์ พบว่า แม้เขาจะเป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านระบบทุนนิยม และต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ในแง่ของการคุกคามวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตามแบบชาวพุทธ แต่ผลงานของเขากลับพยายามสร้างสรรค์มันออกมา โดยไม่ได้ต่อต้านความเป็นหลังสมัยใหม่ (Postmodern) เขาเลือกที่จะพัฒนารูปแบบให้มีความเป็นสากล แต่ต้องผสมผสานกับเนื้อหาความเป็นท้องถิ่นอีสาน ที่เรียกว่า “ตะวันตกบวกตะวันออก” จึงเป็นการรอมชอมเพื่อให้ศิลปะของเขา มีที่ยืนอยู่ในพื้นที่ของโลกศิลปะกระแสหลักและโลกหลังสมัยใหม่ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการเดินทาง “สายกลาง” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แนบแน่นอยู่ในใจของเขา ศิลปะของเขาจึงเปรียบเสมือนเป็นการพิสูจน์ว่า เมื่อสภาวะจิตของเขาได้รับการพัฒนาไปสู่ฌานชั้นสูง หรือแม้แต่การจะเข้ากระแสธรรมขั้นสูงในอนาคต รูปแบบศิลปะของเขาจะได้รับการพัฒนาไปในรูปแบบใด ย่อมเป็นการยากที่จะคาดเดาได้ เนื่องด้วยทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ศิลปะ ชีวิต และอัตลักษณ์ของเขาก็ย่อมเป็นไปตามนั้น


โชคชัย ตักโพธิ์. ใบหน้ากาล. ภาพพิมพ์. ผลงานสูญหายใน ปี พ.ศ. 2519 
(ที่มา แฟ้มภาพของโชคชัย ตักโพธิ์)



โชคชัย ตักโพธิ์. เดินจงกรม. เครยอง. 54x75 ซ.ม. ปี 2543  
(ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)



โชคชัย ตักโพธิ์. วัดหนองป่าพง. เครยอง ดินสอถ่าน. 69x79 ซ.ม. ปี 2545  
(ที่มา: แฟ้มภาพส่วนตัวของโชคชัย ตักโพธิ์)


บทสรุป

  ผลจากการศึกษาและวิเคราะห์ผลงานทัศนศิลป์ของโชคชัย ตักโพธิ์ พบว่า เขาเป็นศิลปินอีกผู้หนึ่ง ที่ยอมสละชีวิตของตัวเองไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อชีวิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตรึงเครียดของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ความจริงใจและอุดมการณ์ที่ก้าวข้ามความกลัวตาย จากการไล่ล่าของฝ่ายตรงกันข้าม ได้ทำให้เขามีตัวตนที่ถูกขนานนามว่า “เป็นศิลปินเพื่อชีวิต” ที่ยึดมั่นอุดมการณ์เพื่อสังคม จนทำให้เขากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงและถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความเป็นศิลปินเพื่อชีวิตของเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากศิลปินเพื่อชีวิตคนอื่นๆ ในยุคเดียวกัน หากแต่มีความแตกต่างจากกลุ่มศิลปะเพื่อศิลปะก็คือ เขาไม่ได้ขายผลงานและขายอุดมการณ์ เพื่อเงินตราและเหรียญรางวัลเฉกเช่นศิลปินในกลุ่มกระแสหลัก แม้ในช่วงหลังจนถึงปัจจุบัน อุดมการณ์ของเขาได้ยกระดับไปสู่ความจริงแท้ของสภาวธรรมคือ ธรรมชาติที่มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นของธรรมดา และธรรมะของพระพุทธเจ้าที่สอนให้รู้เหตุของการเกิดสภาวธรรม และทรงสอนให้รู้หนทางแห่งความหลุดพ้น เขาจึงปฏิบัติธรรมควบคู่กันไปกับการปฏิบัติศิลปะ เพื่อให้ผลงานศิลปะของเขามีประโยชน์สูงสุดต่อมนุษยชาติ และการปฏิบัติธรรมมีประโยชน์ต่อการหลุดพ้นของตัวเอง นั่นคือ ความแตกต่างสูงสุด เท่าที่เคยมีปรากฏในประเทศไทย
นอกจากสิ่งที่ค้นพบในความเป็นตัวตนดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือ เรื่อง “แนวคิด ทฤษฎี/ปรัชญา” ที่แฝงอยู่ในความเป็นศิลปินของโชคชัย ตักโพธิ์ ซึ่งมีความแตกต่างจากชาวตะวันตก คือ การนำเอาหลักคิดปรัชญาและคำสอนจากพระพุทธศาสนา มาเป็นหลักแนวความคิด เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้มีความเป็นตะวันออก หรือสอดคล้องกับความเป็นไทย เพื่อรักษาตัวตนและความเชื่อดั้งเดิมเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากโชคชัย ตักโพธิ์ เป็นผู้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาทั้งชีวิต ฉะนั้น ปรัชญา “พุทธเถรวาท” จึงได้มาปรากฏในผลงานส่วนใหญ่ของเขา เขาพยามสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้เข้าไปใกล้เคียงกับคำสอนของพระพุทธองค์ให้มากที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่า หลังจากที่เขาได้ปฏิบัติธรรม จนสมาธิและปัญญาเกิดขึ้นแล้ว พุทธิปัญญาก็จะบังเกิดขึ้นในผลงานศิลปะของเขาด้วย
         อย่างไรก็ตาม ผลงานศิลปะของโชคชัย ตักโพธิ์ ทั้งหมด ทำให้เห็นภาพรวมของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนตายตัว ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจังตามกฎไตรลักษณ์ ผลงานศิลปะของเขาก็เช่นกัน จึงเห็นได้ว่า รูปแบบและกลวิธีการสร้างสรรค์ผลงาน ได้เลื่อนไหลไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยอันควร ดังนั้น การปรับตัวให้เลื่อนไหลไปตามกระแสของสังคม และกระแสโลกาภิวัตน์ จึงเป็นความชาญฉลาดที่ทำให้เขายืนอยู่ได้อย่างสง่างาม บนพื้นที่ของโลกศิลปะหลังสมัยใหม่นั่นเอง